ข่าวส่อขัดแย้งรถไฟเชื่อม3ท่าเรือ - kachon.com

ส่อขัดแย้งรถไฟเชื่อม3ท่าเรือ
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

 เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่11มี.ค. ณ ห้องพาวิลเลี่ยน BCD โรงแรมแกรนด์โฟร์วิงค์ ศรีนครินทร์ กรุงเทพมหานคร นายสุนิติ ปุณยมหาศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกะปิ เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อสรุปผลการศึกษาโครงการงานศึกษาความเหมาะสมออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก - ฉะเชิงเทรา - ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา – มาบตาพุด เชื่อมต่อพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับ 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะทางรวม 200 กม.เพื่อชี้แจงสรุปผลการศึกษาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
    
นายสมเกียรติ เตรียมแจ้งอรุณ ผู้จัดการโครงการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด กล่าวว่า ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าวพบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 12% อีกทั้งยังประหยัดการเดินทางจากกรุงเทพถึงระยองโดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งคนและสินค้ารองรับผู้โดยสารประมาณ 4 ล้านคนต่อปีและรองรับการขนส่งสินค้าปริมาณ 40ล้านตันต่อปีเมื่อเปิดให้บริการ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะใช้เวลาการออกแบบรายละเอียดประมาณ6เดือนหรือปลายปี 62 เมื่อแล้วเสร็จจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ภายในปี63และจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 68 
    
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของรูปแบบเบื้องต้นของการพัฒนาโครงการช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา ทางรถไฟเดิมเป็นสามรางจะพัฒนาเป็นทางรถไฟเพิ่มอีกหนึ่งรางและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา เป็นการปรับปรุงคันทางเดิมที่ใช้ขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร พร้อมปรับปรุงทางแยกจุดตัดของทางรถไฟเพื่อไม่ให้เกิดการตัดกันระหว่าง ถนนกลับทางรถไฟเป็นการลดอุบัติเหตุในการเดินทางและทำให้รถไฟสามารถใช้ความเร็วได้มากขึ้น 
    
ผู้สื่อข่าวรายว่าสำหรับบรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามแนวเส้นทางยังมีคามคิดเห็นที่ขัดแย้งเนื่องจากการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มอาจไปขัดต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เดินทางไม่สะดวก  
    
สำหรับโครงการดังกล่าวแนวเส้นทางโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง  ได้มีการออกแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 5 แบบ ได้แก่ 1.สะพานรถไฟข้ามถนน 2.สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 3.สะพานกลับรถรูปตัวยู 4.ทางลอดทางรถไฟ 5.ทางบริการข้างทางรถไฟ ตลอดจนการออกแบบสะพานลอยคนและมอเตอร์ไซค์ข้าม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสัตว์เลี้ยงในการข้ามทางรถไฟ ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบหลากหลายรูปแบบ อาทิ กำหนดให้มีการติดตั้งกำแพงกั้นเสียงชั่วคราวบริเวณพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการฉีดพรมน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง บริเวณพื้นที่ก่อสร้างที่ถูกเปิดผิวหน้าดินและกองวัสดุก่อสร้าง เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองเป็นต้นทั้งนี้ รฟท. จะดำเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นขึ้นอีก 2 ครั้ง ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ชลบุรี ในวันที่ 12 - 13มี.ค. 2562  จากนั้นจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษา เพื่อเตรียมส่งมอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อไป