ข่าวปักหมุด'คำป่าหลาย'บินมุกดาหาร - kachon.com

ปักหมุด'คำป่าหลาย'บินมุกดาหาร
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร ซึ่งจะเป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ลำดับที่ 30 ของ ทย.ว่า ขณะนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ครบ 2 ครั้งแล้ว อยู่ระหว่างการสรุปจัดทำร่างรายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในเดือน เม.ย.62 ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบให้มีการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้หรือไม่
    
นายจรุณ กล่าวต่อว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อสร้างท่าอากาศยาน แต่มีชาวบ้านบางส่วนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องที่ดินที่จะก่อสร้าง จึงขอให้มีความชัดเจนในรายละเอียดเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะจะได้ทราบว่าที่ดินของตนเองได้รับผลกระทบหรือไม่ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นคัดเลือกพื้นที่แล้วอยู่บริเวณ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ มีระยะห่างจากตัวเมืองมุกดาหาร ประมาณ 20 กิโลเมตร(กม.) ผลการศึกษาระบุ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการบิน อีกทั้งการสร้างท่าอากาศยานดังกล่าว มีความคุ้มค่า และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างดี
    
นายจรุณ กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาระบุด้วยว่า ท่าอากาศยานแห่งนี้จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก แม้ จ.มุกดาหาร จะมีประชากรประมาณ 3 แสนคน แต่จะมีผู้โดยสารจากพื้นที่อื่นมาใช้บริการมากมาย โดยเฉพาะจากเมืองสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีประชากรเป็นล้านคน เหมือนกับประชาชนจากเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่มาขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอุดรธานี นอกจากนี้ท่าอากาศยานมุกดาหาร ยังช่วยทำให้ประชาชนประหยัดเวลาในการเดินทาง เพราะจากเดิมหากจะเดินทางทางอากาศ ต้องไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ใช้เวลาเดินทางไปขึ้นเครื่อง 2-3 ชั่วโมง(ชม.) หรือหากไปใช้ท่าอากาศยานสกลนคร หรือท่าอากาศยานนครพนม ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชม.
    
นายจรุณ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามในระหว่างที่เสนอ ครม. พิจารณานั้น ทาง ทย. จะทำการจ้างออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างควบคู่กันไป วงเงินประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ประมาณ 1 ปี ตามมาด้วยการซื้อที่ดิน ใช้เวลาประมาณ 2 ปี เมื่อจัดการเรื่องที่ดินเรียบร้อยจะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลโครงการก่อสร้างท่าอากาศยาน และดำเนินการก่อสร้างทันที ใช้เวลาประมาณ 3 ปี คาดว่าท่าอากาศยานมุกดาหารจะแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการได้อีกประมาณ 7 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 69.