นายกฯคิวยาวลุยเช็คโปรเจคราง
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)แจ้งว่า ในวัน 13 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเป็นประธานในพิธีเปิดใช้สถานีของแก่น 1ใน 27 สถานี ของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น ระยะทาง187กม.งบประมาณก่อสร้าง 23,430 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสที่1 สำหรับสถานีขอนแก่นถือเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน อีกทั้งยังมีไฮไลท์ ทางรถไฟที่เป็นทางยกระดับ ซึ่งปลายปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้รถไฟวิ่งบนทางยกระดับ ระยะทาง 5.2 กม. สูงกว่าพื้นดิน 10 เมตร แต่ยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนใช้ภายในสถานี
อย่างไรก็ตามการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ได้ทยอยเปิดสถานีภายในเส้นทางดังกล่าวไปแล้ว จำนวน4 สถานี ตั้งแต่สถานี S4-S7 ประกอบไป ด้วยสถานีโนนสูง,ดงพลอง,บ้านมะค่า และสถานีพลสงคราม ระยะทาง20 กม. สำหรับภายในพิธีเปิดดังกล่าว นายกรัฐมนตรี จะทดลองนั่งรถไฟสายใหม่จำนวน 1 สถานี ตั้งแต่สถานีท่าพระ-สถานีขอนแก่น จากนั้นเวลา 12.00 น. ร.ฟ.ท.จะเปิดให้ประชาชนใช้งานภายในสถานีขอนแก่นได้ โดยภายในตัวอาคาร มีทั้งหมด 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นล่าง มีห้องจำหน่ายตั๋ว พื้นที่เชิงพาณิชย์ และห้องควบคุมการเดินรถที่มีระบบที่ทันสมัย สามารถสั่งการและติดตามคำนวณการเดินรถในเส้นทาง ส่วนชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับผู้โดยสาร ทั้งนี้สถานีขอนแก่นชั่วคราวที่อยู่ด้านหลังห้างโลตัสจะยกเลิกการใช้งานไป อย่างไรก็ตามการเปิดใช้รถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น มีกำหนดเปิดใช้งานครบทุกสถานีภายในวันที่1พ.ค.นี้
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ในวันที่18 มี.ค. นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการลงพื้นที่จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อติดตามโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีกำหนดเปิดใช้ภายในปี 65 จากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมชมแผนพัฒนาลานเทกองสินค้าทางราง(CY) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งของภาคใต้ให้มาสู่ระบบทางราง ควบคู่ไปกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ชุมพร-ระนอง วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถทางการค้าและเศรษฐกิจรองรับเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้(SEC) เชื่อมต่อการขนส่งจากอ่าวไทยทางฝั่งจ.ชุมพร เข้ากับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้แก่ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และไทย ทางฝั่งทะเลอันดามัน หลังจากนั้นในวันที่ 20 มี.ค. ยังมีกำหนดการตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งขนาดใหญ่ของประเทศที่มีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟชานเมืองและรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมจัดทำรายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เริ่มจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งได้เปิดประมูลสัญญางานก่อสร้างตอนที่ 3 แล้ว 2-3 สัญญา และอยู่ระหว่างสรุปผลผู้ชนะการประมูล ส่วนสัญญาที่เหลือจะเร่งประกวดราคาให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในเดือนก.ค.นี้
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ส่วนด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะมีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนในการปิดดีลครั้งสุดท้ายกับกลุ่มซีพี ในวันที่ 19 มี.ค. โดยจะต้องดูอีกครั้งว่าจะสามารถจัดประชุมได้หรือไม่หากนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคใต้ในช่วงเวลาดังกล่าว