ส่งครบแล้วรถเมล์ล็อตสุดท้าย
เศรษฐกิจ
นายประยูร เปิดเผยว่า การรับรถเมล์ล็อตสุดท้าย 89 คัน จะนำมาวิ่งให้บริการในวันที่ 13 มี.ค. นี้ ในเส้นทางเขตการเดินรถที่ 1 จำนวน 29 คัน ได้แก่ สาย 59 รังสิต-สนามหลวง 9 คัน, สาย 129 บางเขน-สำโรง 2 คัน, สาย 510 มธ.ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 8 คัน, สาย 522 รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ 5 คัน และ สาย A1 ดอนเมือง-หมอชิต 2 จำนวน 5 คัน, เขตการเดินรถที่ 2 จำนวน 30 คัน ได้แก่ สาย 26 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยฯ 15 คัน, สาย 60 สวนสยาม-ปากคลองตลาด 10 คัน และ สาย 514 มีนบุรี-สีลม 5 คัน, เขตการเดินรถที่ 3 จำนวน 20 คัน ได้แก่ สาย 142 ปากน้ำ-แสมดำ 10 คัน และ 511 ปากน้ำ-สายใต้ใหม่ 10 คัน และเขตการเดินรถที่ 5 จำนวน 10 คัน ได้แก่ สาย 140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยฯ 10 คัน
นายประยูร กล่าวต่อว่า หลังจากรับรถเอ็นจีวี 489 คันแล้ว ทำให้ ขสมก. มีรถเมล์ให้บริการประชาชนประมาณ 3,000 คัน ซึ่งเป็นตามแผน ขสมก. ที่มีรถทั้งหมด และจะทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ไม่ต้องรอคอยรถเมล์นาน ทั้งนี้จากการสอบถามความพึงพอใจของประชาชนเกือบ 100% ชอบ เพราะเป็นรถสมัยใหม่ ชานต่ำ รองรับผู้พิการใช้บริการสะดวก ไม่ต้องก้าวขึ้นบันไดเหมือนรถเมล์ชานสูงแบบเดิม รวมทั้งมีการติดกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ห้องโดยสารที่กว้างขวางขึ้น รวมทั้งเซนเซอร์นับจำนวนผู้โดยสารครบถ้วน ทั้งนี้ประชาชนต้องการให้ ขสมก. จัดหารถเมล์ใหม่มาให้บริการทุกเส้นทางและรวดเร็วขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนจัดหารถเมล์ตามแผนฟื้นฟูองค์กรจำนวน 2,188 คัน วงเงิน 12,091 ล้านบาท ตซึ่งอยู่ระหว่างรอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวบรวมความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าปี 63-65 น่าจะทยอยนำรถเมล์ใหม่มาให้บริการได้
ด้าน ดร.ฤทธี กล่าวว่า หลังจากที่ ขสมก. จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีมากว่า 10 ปี วันนี้มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ส่งมอบรถเมล์ครบ 489 คัน ตามสัญญา แม้ระหว่างดำเนินโครงการอาจมีข้อพิพาทบ้าง แต่ได้แก้ไขเรียบร้อย แสดงให้เห็นว่ามีความโปร่งใสในการส่งมอบ อย่างไรก็ตามสัญญากับ ขสมก.ยังเหลืออีก 10 ปีในการซ่อมบำรุง วงเงิน 2,300 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะซ่อมบำรุงรถให้อยู่ในสภาพดีเยี่ยมพร้อมใช้งานตลอด 10 ปี ทั้งนี้บริษัทเป็นผู้ที่มีความพร้อมอันดับต้นๆ ในไทย และจากประสบการณ์ส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีก็จะเข้าร่วมประมูลโครงการจัดหารถเมล์ใหม่ของขสมก.ในอนาคต อาทิ รถเมล์เอ็นจีวี รถเมล์ไฮบริด และรถเมล์ไฟฟ้า
ส่วน น.ส.นันทิดา จิตภักดีรัตน์ กรรมการสมาคมสตรีพิการประเทศไทย และแอดมินเพจทูเกเตอร์ (ToGether) กล่าวว่า ตั้งแต่มีรถเมล์เอ็นจีวีมาให้บริการทำให้กล้าออกมาใช้ชีวิตปกติเหมือนประชาชนทั่วไป เพราะรถใหม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับผู้พิการ ซึ่งต่างจากรถเมล์ชานสูงขึ้นลงไม่สะดวก ปัจจุบันใช้บริการรถเมล์ในการเดินทางในชีวิตประจำวันแล้ว 8 เดือน ใช้ไม่ต่ำกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ จากใช้บริการในภาพรวมถือว่าโอเค แต่พบปัญหาพบว่าเมื่อรถมาจอดเทียบป้ายรถเมล์บริเวณฟุตบาทจะมีสิ่งกีดขวางทางขึ้นรถเมล์อยู่ เช่น วินรถจักรยานยนต์ (จยย.) รับจ้าง และรถแท็กซี่ ทำให้ไม่สะดวกในการขึ้น และเสี่ยงเกิดอันตรายง่าย จึงต้องการให้จัดระเบียบตรงป้ายรถเมล์เป็นป้ายสำหรับคนที่รอใช้บริการรถเมล์จริงๆ รวมทั้งให้นำสายเข็มขัดนิรภัยมาล็อคที่ตัวด้วยจะสะดวกกว่า เพราะปกติใช้เข็มขัดล็อคที่พื้น ทำให้เสียเวลากับผู้โดยสารคนอื่น ทั้งนี้ขอเสนอแนะว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานขับรถสามารถรับรู้ได้ว่าตรงป้ายรถเมล์มีผู้พิการรอใช้บริการอยู่ เพื่อเวลาที่รถมาจอดเทียบป้ายเข็นวีลแชร์จะขึ้นรถเมล์ได้ทันที รวมทั้งให้จัดอบรมพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารสำหรับให้บริการผู้พิการ เพื่ออำนวยความสะดวกและบริการได้ถูกวิธี.