ข่าวขึ้นแบล็กลิสต์ผู้รับเหมาทิ้งงานดอนเมือง - kachon.com

ขึ้นแบล็กลิสต์ผู้รับเหมาทิ้งงานดอนเมือง
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสาร เพื่อรองรับกรุ๊ปทัวร์ ที่ท่าอากาศยานดอนมือง (ทดม.) พื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) วงเงิน 190 ล้านบาทว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้ เนื่องจากบริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ที ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลไม่สามารถมาลงนามสัญญากับท่าอากาศยานดอนเมืองได้ตามกำหนด เพราะบริษัทไม่มีความพร้อม ส่งผลให้นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ต้องลงนามยกเลิกการจ้างดังกล่าว
    
นายศิโรตม์ กล่าวต่อว่า ทอท. จะดำเนินการขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่งฯ ฐานเป็นผู้ทิ้งงาน ขณะเดียวกันสนามบินดอนเมือง ในฐานะเจ้าของโครงการจะเชิญบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ พีแอลอี ผู้ยื่นข้อเสนอลำดับที่ 2 ด้วยราคา 228 ล้านบาท เข้ามาเจรจาแทน จะใช้เวลา 1-2 เดือน หากวงเงินเกินราคากลางก็ต้องทำเรื่องของบประมาณเพิ่ม จากนั้นก่อสร้างอีก 5 เดือน คาดว่าจะเปิดอาคารหลังนี้ได้ในต้นไตรมาสที่ 4 ปี 62 หรือประมาณเดือน ต.ค.62 ล่าช้าจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดให้บริการในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
    
นายศิโรตม์ กล่าวอีกว่า อาคารบริการผู้โดยสารหลังนี้ จะช่วยลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร 1 ซึ่งเป็นอาคารระหว่างประเทศได้มาก เพราะปัจจุบันผู้โดยสารที่มาเป็นกรุ๊ป เมื่อมาถึงจะจัดกระเป๋าใหม่เพื่อบรรจุสัมภาระลงกระเป๋าก่อนโหลด ทำให้พื้นที่หน้าช่องเคาน์เตอร์เช็คอินหนาแน่น และบางช่วงเวลามีปริมาณผู้โดยสารล้นไปถึงประตูทางเข้าอาคาร อย่างไรก็ตามอาคารหลังนี้โดยจะอยู่บริเวณลานจอดรถบัส ATTA ระหว่างอาคารสำนักงาน และอาคาร 1 โดยเป็นอาคาร 2 ชั้น เชื่อมต่อกับชั้นที่ 1 และ 3 ของอาคาร 1 ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ แม้จะยังไม่มีอาคารบริการผู้โดยสารหลังใหม่ แต่คงไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการมากไปกว่าเดิมมากนัก เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่จะเดินทางภายในประเทศ
    
รายงานข่าวจาก ทอท. แจ้งว่า ทอท. เตรียมเสนอรายชื่อบริษัท ที เอ็นจิเนียริ่งฯ ให้กระทรวงการคลังขึ้นบัญชีดำ และส่งหนังสือเวียนแจ้งเรื่องนี้กับหน่วยงานต่างๆ โดยการขึ้นบัญชีดำจะส่งผลให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถทำสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ที่มีผลทางกฎหมายกับ ที เอ็นจิเนียร์ริ่งฯ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี นอกจากนี้บริษัท ที เอ็นจิเนียริ่งฯ ต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดด้วย ทั้งจากการเปิดใช้งานอาคารบริการผู้โดยสารล่าช้า และส่วนต่างราคาการประมูล เบื้องต้นข้อเสนอระหว่าง ที เอ็นจิเนียร์ริ่งฯ และเพาเวอร์ไลน์ มีราคาต่างกันประมาณ 38 ล้านบาท.