ขสมก.บอกเลิกสัญญาอีทิคเก็ต
เศรษฐกิจ
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ และรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ขสมก. ได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย นำเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC (Electronic Data Capture) มาใช้รับชำระค่าโดยสารบนรถโดยสาร (รถเมล์) ของ ขสมก. รวม 2,816 คัน เพื่อรองรับการใช้สิทธิบริการรถโดยสารของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.-ปัจจุบันพบว่า มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้บริการประมาณ 30,000 กว่าคนต่อวัน ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และอนาคตจะมีคนใช้มากขึ้น ทั้งนี้ยังไม่พบปัญหาใหญ่ แต่มีบ้างเรื่องเล็กๆ ที่บางช่วงอยู่ในจุดอับสัญญาณ 4G ทำให้การทำงานของเครื่อง EDC ไม่เสถียร แต่ได้แจ้งให้ธนาคารกรุงไทยแก้ปัญหาแล้ว
นายประยูร กล่าวต่อว่า สำหรับการนำเครื่อง EDC มาใช้นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่รัฐบาลแจกให้กับประชาชน 3 ประเภท ได้แก่ 1.บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรุ่นแรก (เวอร์ชั่น 2.0) ที่มีประมาณ 1.4 ล้านใบ 2.บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (เวอร์ชั่น 2.5) ที่มี 5 หมื่นกว่าใบ และ 3.บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเวอร์ชั่น 4.0 ที่มีแสนกว่าใบ ทั้งนี้ในอนาคตเครื่อง EDC จะรองรับได้ทุกบัตรฯ พัฒนารองรับเก็บค่าโดยสารด้วยระบบคิวอาร์โค้ดและระบบบัตรโดยสารอีเล็กทรอนิกส์ (อีทิคเก็ต) ด้วย ซึ่งระบบการจ่ายค่าโดยสารแบบไร้เงินสดนี้ ขสมก. ร่วมกับธนาคารกรุงไทยทดลองการให้บริการนำร่องบนรถเมล์สาย 510 มธ.ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำนวน 1 คัน เริ่มให้บริการ เม.ย.62 ซึ่งใช้ระบบจ่ายค่าโดยสารที่ไม่ใช้เงินสด และให้ใช้ระบบจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรทั้งหมดแทน
นายประยูร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณียกเลิกโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (อีทิคเก็ต) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือกล่องเก็บค่าโดยสาร “แคชบ็อกซ์” (Cash box) บนรถเมล์ 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท สัมปทาน 5 ปี โดยมีบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญานั้น มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 27 ก.พ.62 เห็นชอบให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจาก ช ทวีฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขร่างขอบเขตของงานประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับได้พยายามให้โอกาส ช ทวีฯ ปรับปรุงแก้ไขเรื่องระบบการทำงานของอีทิคเก็ตมาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามเงื่อนไขทีโออาร์ อาทิ การชำระค่าโดยสารระบบหน้าบ้านและหลังบ้านไม่ตรงกัน ขณะที่กล่องเก็บค่าโดยสารไม่สามารถทอนเงินได้ ถ้าตรวจรับมาใช้งานทำให้เกิดความเสียหายกับ ขสมก. และประชาชนที่ใช้บริการ นอกจากนี้โครงการยกเลิกอีทิคเก็ตที่เกิดขึ้นทำให้กระทบกับแผนของรัฐบาลในการเบิกจ่ายงบประมาณ เงื่อนไขสัญญาระหว่างที่เครื่องอีทิคเก็ตใช้งานไม่ได้ ขสมก. ใช้วิธีฉีกตั๋วเป็นหลักฐานซึ่งจะมีคนใช้ 30,000 กว่าคนต่อวัน โดยมีข้อตกลงกับ ช ทวีฯ ว่า ช ทวีฯ ต้องชดเชยค่าเสียหายให้ ขสมก. เป็นรายวัน ซึ่งว่ากันตามข้อสัญญาตามข้อตกลง ค่าเสียหาย มิ.ย.ปีที่แล้ว-ปัจจุบันต้องคำนวณเป็นเงินกี่บาท
นายประยูร กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันภายใน 1-2 วันนี้ ขสมก. จะส่งหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาให้ ช ทวีฯ ทราบอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นถ้า ช ทวีฯ จะฟ้อง ขสมก. เพราะทำให้เกิดค่าเสียหาย เนื่องจากลงทุนติดตั้งระบบอีทิคเก็ตแล้วนั้นก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องใช้สิทธิ์ทางศาล ขณะที่ ขสมก. ก็ได้รับความเสียหายจากโครงการนี้เช่นกัน และถ้ามีการฟ้องร้องจากคู่สัญญาได้มีความพร้อมในการตรวจสอบเรื่องนี้ส่วนมาตรการเยียวยาเอกชนที่ติดตั้งอีทิคเก็ตไปแล้วนั้น ช ทวีฯ ต้องทำให้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา ถ้าทำไม่ได้ ขสมก. ไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งเป็นความผิดพลาดของคู่สัญญาเอง เพราะ ขสมก. พยายามให้โอกาสตั้งเกือบปี ติดตามผล รายงานและเตือนคู่สัญญาตลอดทุกเดือน แต่ระบบไม่สามารถใช้งานได้ และ ขสมก. ตรวจรับงานไม่ได้ อย่างไรก็ตามหลังจากบอกเลิกสัญญาอีทิคเก็ตแล้ว ขสมก. ยืนยันว่าจะยังมีโครงการติดตั้งระบบอีทิคเก็ตบนรถเมล์เหมือนเดิม เนื่องจากในแผนฟื้นฟูระบบอีทิคเก็ตยังจำเป็นต้องมี เพราะ ขสมก. จะใช้พนักงานเก็บค่าโดยสารไปตลอดไม่ได้ หลังบอกเลิกสัญญาแล้วจะพิจารณาที่ผ่านมาโครงการอีทิคเก็ตมีปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อให้รอบคอบ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนครั้งที่ผ่านมา ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการติดตั้งอีทิคเก็ตใหม่