ไฟเขียวยกเลิกจุดตัดทางรถไฟฉะเชิงเทรา
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจุดทางรถไฟกับถนน โดยมีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และรักษาการรองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 62 ได้เห็นชอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าไข ที่เสนอขออนุญาตทางลักผ่าน กม. 64+228.30 ระหว่างสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา-สถานีบางน้ำเปรี้ยว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ให้เป็นทางผ่านที่ถูกต้อง และ ให้อบต.ท่าไข่ ยกเลิกทางลักผ่าน 2 แห่ง คือ 1.ทางลักผ่าน กม.63+185 และ 2.ทางลักผ่าน กม. 65+736 ระหว่างสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว โดยให้รื้อถอนทางลักผ่านไม่ให้สัญจรข้ามทางรถไฟผ่านมาได้ ทั้งนี้จุดตัดทางรถไฟที่เป็นทางลักผ่านทั้ง 3 แห่ง อยู่ในพื้นที่ของ อบต.ท่าไข่ ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ติดตั้งป้ายหยุด ป้ายรูปรถไฟ และสัญญาณไฟไว้แล้ว โดยเส้นทางดังกล่าวประชาชนใช้ในการขนส่งพืชผลทางการเกษตรและเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียง ทั้งนี้ อบต.ท่าไข่ ขอใช้ทางผ่านที่ กม.64+228.30 ให้เป็นทางผ่านที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้ และให้ปิดทางลักผ่านอีก 2 แห่ง เพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ อบต.โพรงอากาศ ที่ขออนุญาตทางลักผ่าน กม.73+594 ระหว่างสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นทางผ่านทางที่ถูกต้อง และให้ยกเลิกทางลักผ่าน อีก 2 แห่ง คือ 1.ทางลักผ่าน กม.75+359.70 และ 2.ทางลักผ่าน กม.76+851.80 ระหว่างสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว ต้องรื้อถอนทางลักผ่านไม่ให้สัญจรข้ามทางรถไฟผ่านไปได้ โดยจุดตัดทางรถไฟที่เป็นทางลักผ่านทั้ง 3 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ อบต.โพรงอากาศ รฟท. ได้ติดตั้งป้ายหยุด ป้ายรูปรถไฟ และสัญญาณไฟไว้แล้ว เส้นทางดังกล่าวประชาชนใช้ในการขนส่งพืชผลทางการเกษตรและเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างหมู่บ้านและตำบลใหล้เคียง ดังนั้นหากปิดทางลักผ่านทั้ง 3 แห่งทั้งหมดทำให้ประชาชนที่ใช้สัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อน จึงขออนุญาตให้คงเหลือเป็นทางผ่านที่ถูกต้องที่ กม.73+594 ไว้ 1 แห่ง และปิดจุดทางรถไฟที่เหลืออีก 2 แห่ง
หลังจากนี้ทั้ง 2 อบต. ต้องไปหารือกับ รฟท. แนวทางดำเนินการทางลักผ่านที่อนุญาตทั้ง 2 แห่งต่อไป เบื้องต้น รฟท. จะเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องกั้นถนนชนิดคานอัตโนมัติทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งปรับสภาพพื้นที่ผิวถนนบริเวณทางลักผ่านให้มีความเสมอกับทางรถไฟ เนื่องจากพื้นที่ทางลักผ่านดังกล่าวทางรถไฟจะอยู่สูงกว่าพื้นถนนหรือมองเห็นเป็นลักษณะเนินสูง ไม่สามารถเห็นถนนอีกฝั่งทางรถไฟได้ ส่งผลเสี่ยงอันตราย ดังนั้นต้องปรับภาพพื้นทางรถไฟและถนนให้เท่ากัน เพื่อความปลอดภัย โดยใช้งบประมาณของ รฟท. เนื่องจากจุดลักผ่านทั้ง 2 แห่งอยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ซึ่งมีงานปรับปรุงเพิ่มเติมเครื่องกั้นถนนทางผ่านเสมอระดับและส่วนประกอบร่วมอื่นๆ อยู่แล้ว หลังที่ รฟท. ดำเนินการแล้ว จากนั้นทาง อบต. ทั้ง 2 แห่ง ต้องดูแลการบำรุงรักษาสภาพถนนจุดทางลักผ่าน อบต. และป้ายเตือนต่างๆ ต่อไป
จากข้อมูลจำนวนจุดตัดทางรถไฟกับถนน ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศมี 4,043 กม. ผ่านพื้นที่ 47 จังหวัด มีจุดตัดทางรถไฟรวม 2,657 แห่ง แบ่งเป็นจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 1,981 แห่ง และจุดตัดที่ไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน) 676 แห่ง อย่างไรก็ตามการแก้ไขจุดตัดทางรถไฟได้ผล จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนในปี 61 พบว่ามีอุบัติเหตุ 57 ครั้ง เมื่อเทียบกับปี 60 เกิด 71 ครั้ง ลดลง 14 ครั้ง ส่วนผู้บาดเจ็บในปี 61 พบ 29 ราย เมื่อเทียบปี 60 พบ 53 ราย ลดลง 24 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตปี 61 พบ 11 ราย เมื่อเทียบกับปี 60 พบ 20 ราย ลดลง 9 ราย