อิตาเลี่ยนไทย-ช.การช่าง ร่วมสร้างมอเตอร์เวย์หมื่นล้าน
เศรษฐกิจ
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)เปิดเผยว่า การประกวดราคาก่อสร้างโครงการ ทางยกระดับหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 หรือถนนธนบุรี-ปากท่อ เฟส 1 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 10 กม. งบประมาณ 1.05 หมื่นล้านบาท ได้เอกชนที่เสนอราคาต่ำสุดแล้ว แต่ต้องรอประกาศผลอย่างเป็นทางการก่อนและให้เวลาผู้แพ้ประมูลอุทธรณ์ต่ออีก 7 วัน ก่อนเสนอผลการคัดเลือกเอกชนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป คาดว่าเมื่อลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้วจะเริ่มเข้าพื้นที่งานก่อสร้างได้ทันทีช่วงครึ่งปีหลัง
รายงานข่าว แจ้งว่า โครงการนี้แบ่งสัญญาก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1 งบประมาณ 4,000 ล้านบาท สัญญา 2 งบประมาณ 4,000 ล้านบาท และสัญญา 3 งบประมาณ 2,500 บาท โดยผลประกวดราคาพบว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน) หรือ ITD เสนอราคาต่ำสุดในสัญญาที่ 1 ขณะที่สัญญา 2 มีผู้เสนอราคาต่ำสุดคือกิจการร่วมค้านำโดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และสัญญาที่ 3 ผู้เสนอราคาต่ำสุดคือ กิจการร่วมค้านำโดย บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด
โครงการนี้ จะมีรูปแบบก่อสร้างเป็นทางหลวงพิเศาหรือมอเตอร์เวย์แบบยกระดับหรือลอยฟ้าบนถนนพระราม 2 ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรช่วงถนนพระราม 2- มหาชัยที่มีรถติดในช่วงสุดสัปดาห์รวมถึงเทศกาลหยุดยาวต่างๆเพราะเป็นถนนสายหลักไปสู่ภาคใต้ โดยมีอัตราค่าผ่านทางรถยนต์ 4 ล้อมีค่าแรกเข้า 10 บาทและคิดเพิ่ม 2 บาท/กม. ขณะที่รถยนต์ขนาด 6 ล้อมีค่าแรกเข้า 16 บาทและคิดเพิ่ม 3.2 บาท/กม. ส่วนรถยนต์มากกว่า 6 ล้อจะมีค่าแรกเข้า 23 บาทและคิดเพิ่ม 4.6 บาท/กม. ส่งผลให้ประมาณการค่าใช้จ่ายตลอดเส้นทางช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 25 กม. แบ่งเป็น รถยนต์ 4 ล้อ 60 บาท รถยนต์ 6 ล้อ 96 บาทและรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ 138 บาท
คาดการณ์ปริมาณจราจรของโครงการนี้ในปีแรกคือปี 66 ที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 48,000 คัน/วัน แบ่งเป็นสัดส่วนรถยนต์ 4 ล้อ 85% และรถยนต์ขนาด 6 ล้อขึ้นไป 15% ก่อนเพิ่มเป็น 100,000 คันในปี 79 คดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ก่อนจะเติบโตไปจนถึงระดับ 220,000 คัน/วัน ในปี 94 ส่วนด้านประมาณการรายได้ในปีแรกที่เปิดบริการนั้นอยู่ที่ 1,095 ล้านบาท คิดเป็น 3ล้านบาท/วัน ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ปีละ 3,650 ล้านบาท ในปี 79 คิดเป็นการขยายตัว 233% หรือ 10 ล้านบาท/วัน ก่อนจะมีรายรับช่วงปลายสัมปทานในปี 94 อยู่ที่ 8,030 ล้านบาท หรือ 22 ล้านบาท/วัน