รฟท.แจงซีพียอมถอนข้อเสนอ
เศรษฐกิจ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 มี. ค. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินช่วงดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภางบประมาณ 2.24 แสนล้านบาทกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรหรือกลุ่มซีพีว่า ได้เชิญซีพีฯ มาเจรจาเพื่อหารือร่างสัญญา โดยผลการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการฯ ไม่สามารถรับได้ 12 ข้อแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเงื่อนไขเวลากลุ่มที่ 2 ด้านการเงินกลุ่มที่ 3 เรื่องข้อความคำพูดที่ระบุเฉพาะเจาะจงกับภาครัฐมากเกินไป เช่นการย้ายสถานีการทำสเปอร์ไลน์ (สถานีต่อเชื่อม) เป็นต้น ทางซีพียอมผ่อนคลาย 8 ข้อหลัก ๆ ยอมปรับคำพูดที่อาจจะตีกรอบภาครัฐมากเกินไปอีก ทั้งซีพียังได้ชี้แจ้งด้านเงื่อนไขเวลาที่ทางรัฐเข้าใจผิดคือสัปทาน 99 ปีนั้นคลาดเคลื่อนในความเป็นจริง โดยซีพียอมรับเงื่อนไขสัปทาน 50 ปี แต่หากในอนาคตได้ดำเนินธุรกิจครบสัปทานแล้วหากรัฐจะดำเนินกิจการต่อก็สามารถคุยกับทางซีพีให้รับสัปทานต่อได้
นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนเงื่อนไข 3-4 ข้อนั้นเป็นเรื่องของด้านการเงินที่ทางซีพีต้องเจรจากับแบงค์เกอร์ 3 สถาบันไทยจีนและญี่ปุ่นเรื่องการกู้เงินมาดำเนินโครงการโดยทางซีพีรับปากว่าจะเจรจาอย่างเร็วภายในอาทิตย์นี้และช้าสุดภายในต้นอาทิตย์หน้า คณะ กรรมการฯ จะนัดประชุมภายในวันที่ 28 มี. ค. นี้ แต่หากซีพียังเจรจากับทางสถาบันการเงินไม่จบก็สามารถเลื่อนเจรจาได้ซึ่งทิศทางการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดีแล้ว ภาพรวมการเจรจาคืบหน้าไป 70-80% ตั้งเป้าจะเจรจาจบก่อนสงกรานต์เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป
นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าส่วนกรณีที่เอกชนไม่มั่นใจในการดำเนินโครงการซึ่งทางรถไฟฯ ได้ยืนยันกับทางเอกชนว่าทางรัฐบาลเดินหน้าทำโครงการจริงๆและรัฐบาลไทยไม่เคยมีประวัติล้มโครงการของประเทศและไทยเป็นประเทศที่มีวินัยการคลังสูงเคร่งครัดมากเป็นเรื่องจริงพิสูจน์ได้เทียบกับประเทศอื่น