ข่าวจัดงานร้อยเรื่องราวผ่านร้อยจีไอไทย - kachon.com

จัดงานร้อยเรื่องราวผ่านร้อยจีไอไทย
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
น.ส.วันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า กรมฯเตรียมจัดงานร้อยเรื่องราวผ่านร้อยจีไอไทย ในวันที่ 4 เม.ย.62  เพื่อฉลองความสำเร็จของการผลักดันให้จังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยยื่นจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ)  โดยสินค้ารายการที่ 100 ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว คือ ทุเรียนสาลิกาพังงา และล่าสุดมีสินค้าไทยได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วรวม 103 รายการ จาก 67 จังหวัด
 
สำหรับทุเรียนพันธุ์สาลิกา เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง จังหวัดพังงา ซึ่งชื่อเสียงของทุเรียนสาลิกากำลังเป็นที่รู้จักและมีผู้บริโภคที่ต้องการจำนวนมาก จุดเด่น เป็นทุเรียนที่มีรสชาติหวานมัน และมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์    
 
“กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีสินค้าจีไอครบทุกจังหวัด ตามเป้าหมาย 1 จังหวัด 1 สินค้าจีไอ ซึ่งคาดว่าไม่เกินปี 63 จะมีการขึ้นทะเบียนได้ครบหมดทุกจังหวัด โดยขณะนี้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนจีไอใน 10 จังหวัดที่เหลือเข้ามาแล้ว หมายความว่าทุกจังหวัดมีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจีไอ ซึ่งหากได้รับการพิจารณาอนุมัติทั้งหมด ก็จะมีสินค้าจีไอครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ”
 
อย่างไรก็ตาม  10 จังหวัดที่ยื่นคำขอจดจีไอ ได้แก่ จังหวัดตาก ยื่นจดข้าวเหนียวดำลืมผัวตาก ครกหินแกรนิตตาก อโวคาโดพบพระ แปจ่อเขียวแม่สอด , ระยอง ยื่นจดสับปะรดทองระยอง, ปทุมธานี ยื่นจดตุ่มสามโคก ข้าวหอมปทุมธานี กล้วยหอมทองปทุม, อ่างทอง ยื่นจดกลองเอกราช, สิงห์บุรี ยื่นจดปลาช่อนแม่ลา, ฉะเชิงเทรา ยื่นจดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า, สระแก้ว ยื่นจดมะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว ชมพูคลองหาด, ระนองยื่นจดทุเรียนวงในระนอง มังคุดวงในระนอง, กระบี่ยื่นจดกาแฟกระบี่ และสตูล ยื่นจดจำปาดะสตูล
 
ทั้งนี้ปัจจุบัน มีสินค้าที่อยู่ระหว่างการประกาศโฆษณา เพื่อรับการขึ้นทะเบียนจีไอรวม 4 รายการ ได้แก่ ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว และจำปาดะสตูล หากไม่มีผู้ใดคัดค้าน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาประกาศโฆษณา 90 วัน นับจากวันที่ 29 ม.ค.62 ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอภายในเดือนเม.ย.62
 
น.ส.วันเพ็ญ กล่าวว่า กรมมั่นใจว่าการส่งเสริมและผลักดันสินค้าจีไอ จะมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริมและคุ้มครองสินค้าจีไอ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนและผลักดันเป้าหมายมูลค่าตลาดสินค้าจีไอเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท จะทำได้เร็วขึ้น จากปีที่ผ่านมาทำได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท