ข่าวเสียงกนง.เอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% - kachon.com

เสียงกนง.เอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.75%
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกลัเคียงกับศักยภาพแม้ว่าจะชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ จากปัจจัยต่างประเทศที่ชะลอลง และภาวะการเงินอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามต่อเนื่อง ทำให้กนง.เห็นว่านโยบายการเงินในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่สูงขึ้นในปัจจุบัน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น ทำให้กนง.ได้ปรับประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีใหม่ โดยคาดว่าปีนี้จีดีพีขยายตัวเหลือ 3.8% จากเดิม 4% ส่วนปี 63 จะขยายตัวได้ 3.9% และปรับคาดการณ์ส่งออกอยู่ที่ 3% จากเดิมคาด 3.8% ขณะที่ปี 63 คาดส่งออกขยายตัว 4.1% ส่วนการนำเข้าในปีนี้ คาดว่าขยายตัว 3.1% และเพิ่มเป็น 4.8% ในปี 63ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 1% และ 1.1% ในปี 63 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 0.8% และ 0.9% ในปี 63



ทั้งนี้  กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศ ทั้งมาตรการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจจีน และติดตามความคืบหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวนจากความไม่แน่นอนต่างๆ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงิน และมาตรการที่ได้ดำเนินการไปและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาว่าจะช่วยดูแลระบบการเงินได้หรือไม่  เช่น ติดตามพัฒนาการจากตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ทิศทางการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

"การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน(ไมโครพรูเด็นเชี่ยล) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (แมคโครพรูเด็นเชี่ยล) ซึ่งเกิดขึ้นจากหนี้ครัวเรือนสูง"