ข่าวทุ่มหมื่นล้านลอกแม่น้ำป่าสัก รุกขนส่งทางน้ำ - kachon.com

ทุ่มหมื่นล้านลอกแม่น้ำป่าสัก รุกขนส่งทางน้ำ
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมส่วนกลาง ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำ เชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเชื่อมโยงการขนส่งของประเทศเพื่อเศรษฐกิจไทย” จัดโดยกรมเจ้าท่า ว่า ไทยยังมีการขนส่งทางน้ำน้อยมาก จำเป็นต้องส่งเสริมให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและขนส่งในภาพรวมของประเทศ ซึ่งในส่วนของแม่น้ำป่าสักนั้นแม้ว่าจะระยะทางไม่ยาวเท่าแม่น้ำเจ้าพระยา แต่มีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 33 ล้านตันต่อปี สูงกว่าการขนส่งในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ที่ 17-18 ล้านตันต่อปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่กรมเจ้าท่าได้พัฒนาเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำป่าสักตามรูปแบบที่เหมาะสม ตั้งแต่ช่วงบริเวณวัดพนัญเชิงวรวิหาร จนถึงเขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ 52 กม. เพื่อให้สามารถเดินเรือได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานการเดินเรือ และรองรับการขนส่งสินค้าเกษตรจำนวนมากจากภาคอีสานที่มารวมกันที่ จ.สระบุรี สามารถขนส่งผ่านแม่น้ำป่าสักลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้ากรุงเทพฯ ได้สะดวกมากขึ้น



ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเดินเรือในแม่น้ำป่าสักมีอุปสรรคมาก ทั้งปัญหาเรือติดตื้นในฤดูน้ำน้อย ความกว้างของตอม่อสะพานแคบไม่เพียงพอต่อการเดินเรือสวนทาง ความสูงช่องลอดสะพานไม่เพียงพอต่อการเดินเรือลอดในฤดูน้ำหลาก เส้นทางบางช่วงค่อนข้างคดเคี้ยวไม่ปลอดภัยต่อการเดินเรือ การจอดเรือไม่เป็นระเบียบ หรือทิ้งร้างกีดขวางทางเดินเรือ การเดินเรือแออัดส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจราจรทางน้ำ ดังนั้นกรมเจ้าท่าจึงว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 60 เพื่อแก้ปัญหาการเดินเรืออย่างเป็นระบบ ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ป้ายจราจร กำจัดสิ่งกีดขวางการเดินเรือ ขุดลอกร่องน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานการเดินเรือ สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและปรับปรุงสะพานให้มีความสูงเพียงพอต่อการเดินเรือ โดยผลการศึกษาระบุว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นกรมเจ้าท่าจึงรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและทยอยดำเนินงานควบคู่กันไปในจุดที่วิกฤติก่อน เช่น บริเวณที่ตลิ่งพัง คดเคี้ยวมาก หรือตื้นเขิน เป็นต้น เพื่อให้สามารถเดินเรือได้ตลอดทั้งปี

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี จึงแล้วเสร็จทั้งหมด ดังนั้นกรมเจ้าท่าจึงทยอยเสนอของบฯตั้งแต่ปีงบฯ 61 เป็นงบฯ ผูกพัน 3 ปี จำนวน 2 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วนระยะทางรวมประมาณ 8 กม.ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.นี้ ขณะนี้ได้เตรียมเสนอของบฯ ปี 63 จำนวน 4 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการระยะทางรวม 18 กม. ส่วนที่เหลือจะเสนอของบฯ ปี 64 อีก 4 พันล้านบาท คาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 67 ซึ่งจะทำให้การเดินเรือมีศักยภาพมากขึ้น โดยประมาณการณ์ว่าปริมาณการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสักจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2-3% และเมื่อถึงปี 94 หรืออีกประมาณ 30 ปีข้างหน้าปริมาณการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.64 ล้านตันต่อปี โดยจะช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าขนส่งสินค้าและความสูญเสียด้านอุบัติเหตุต่อปริมาณสินค้า เป็นมูลค่ารวมได้ 31,686 ล้านบาท และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สิน และลดค่าซ่อมบำรุงถนน มูลค่ารวมประมาณ 12,714 ล้านบาท อีกทั้งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนถ่ายสินค้า (shift Mode) มาเป็นทางน้ำอีกประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี