ข่าวลุยออกใบขับขี่รถไฟฟ้า - kachon.com

ลุยออกใบขับขี่รถไฟฟ้า
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 22 มี.ค. ที่ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ จ.นนทบุรี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง (Training Center) โดยมีนายชิโระ ซาโดชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายมานิตย์ สุธาพร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาราชการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด และนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ผู้แทนจากโตเกียวเมโทร (Tokyo metro) ผู้บริหาร รฟม. และผู้ริหารบีอีเอ็ม

นายไพรินทร์ เปิดเผยว่า การเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง รฟม. ในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมทางรางระดับประเทศไปสู่ผู้นำของอาเซียน ตลอดจนรองรับรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิดบริการในกรุงเทพฯและเป็นการนำหลักสูตรระดับโลก อย่างโตเกียวเมโทร (Tokyo metro บริษัทบริหารรถไฟฟ้าระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและเอกชน) ของประเทศญี่ปุ่น มาพัฒนาบุคคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้ พร้อมสำหรับการทำงานด้านระบบขนส่งทางรางในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนารถไฟฟ้าในเมืองและเตรียมเปิดใช้ในแต่ละประเทศ 



นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรที่ทาง รฟม. ได้เปิดอบรมในช่วงเริ่มแรก ได้แก่ หลักสูตรการขับรถไฟฟ้า และหลักสูตรผู้ควบคุมระบบราง หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางราง ขยายหลักสูตรเพิ่มเติม และออกใบอนุญาตและใบรับรองให้แก่ผู้จบหลักสูตรที่ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งขึ้น สำหรับใบขับขี่ดังกล่าวนั้น ในอนาคตจะมีประเภทรถไฟฟ้า รถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง แต่ในช่วงเบื้องต้นนั้นสูตรฝึกดังกล่าวจะรองรับเฉพาะบุคคลากรของเอกชนเดินรถ 3 ราย คือ 1.บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 3.บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ก่อนที่จะขยายผลโดนเปิดให้เอกชนสามารถนำบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมได้ โดยมีค่าเรียน 18,000 บาท ภายในระยะเวลาสูตร 3 เดือน  



ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผน รฟม. กล่าวว่า สำหรับกำลังการผลิตนั้นสามารถผลิตบุคคลากรได้ปีละ 660 คน เชื่อว่าจะเพียงพอต่อการรองรับรถไฟฟ้าสายใหม่ ทั้งเฟส 1 และ เฟส 2 ปัจจุบันมีบุคคลากรที่เป็นผู้ขับทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ทั้งหมด 680 คน และในอนาคตหากเปิดให้บริการครบลูป ส่วนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน สายสีเขียวใต้ต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนท์ ในอนาคต 5 ปีนับจากนี้ ปี 62-67  รฟม. คาดว่าจะต้องมีบุคคลากรในการขับรถและควบคุมระบบรถไฟฟ้า อย่างน้อย 5,000 คน แบ่งเป็นปี 62 ต้องการ 980 คน ปี 63 ต้องการ 1,400 คน และปี 67 ต้องการ 2,500 คน สำหรับเงินเดือนเฉลี่ยของบุคคลากรกลุ่มดังกล่าวนั้น ในช่วงแรกจะอยู่ที่ 13,000-15,000 บาทต่อเดือน และเมื่อผ่านการอบรมและได้ใบอนุญาตแล้ว จะได้ 25,000 บาทต่อเดือน เป็นต้นไป  

ส่วนนายสุเทพ กล่าวว่า ปัจุบันแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ มีจำนวนบุคคลากรทั้งหมดจำนวน 800 คน ในอนคตเตรียมบุคคลากรเพิ่มประมาณ 3,000-4,000 คน เพื่อเตรียมบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดง ทั้งนี้ตั้งเป้าว่าจะเริ่มพัฒนาบุคคลากรในช่วงปลายปี 62 เพื่อเตรียมการเปิดเดินรถสายสีแดงปี 64