ข่าวมธ.โมเดลจักรยานยนต์ไฟฟ้า - kachon.com

มธ.โมเดลจักรยานยนต์ไฟฟ้า
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายวันชัย มีศิริ ผู้เชี่ยวชาญยานยนต์ไฟฟ้า และผู้จัดการทั่วไปบริษัท บางกอกไฮแล็บ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จะแถลงข่าวเปิดตัวโครงการใช้จักรยานยนต์ (จยย.)ไฟฟ้าใน มธ. ศูนย์รังสิต ในงานบางกอก อินเตอร์ เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ มอเตอร์โชว์ 2019 วันที่ 26 มี.ค.นี้ ภายใต้หลักการให้นักศึกษาเช่าหรือซื้อรถจักรยานยนต์แต่สามารถชาร์ตไฟฟ้าได้ฟรี โดยจะมีการติดตั้งสถานีชาร์ตไฟฟ้าตามอาคารเรียน และหอพัก และสถานที่ต่างภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มติดตั้งและใช้งานได้วันที่ 1เม.ย.นี้  โดย มธ.ได้จัดเตรียมรถจยย.ไฟฟ้าไว้แบบไม่จำกัด ขนาด60-65 ซีซี ใช้ไฟฟ้า250 วัตต์ ราคาประมาณ 30,000 บาท ความเร็ว 45 กม.ต่อชม.เป็นไปตามกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)กำหนด ทั้งนี้จยย.ไฟฟ้าสามารถชาร์ตไฟ1ชม.วิ่งได้ประมาณ 50 กม. และในอนาคตจะมีการออกแบบ จยย.ไฟฟ้าให้ชาร์ตไฟได้ตั้งแต่ 1-6 ชม.และวิ่งได้ไกลกว่าเดิม
    
นายวันชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมการใช้รถจักรยานในพื้นที่ มธ.ล้มเหลว เพราะอากาศร้อน เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้มีวิน จยย.ในมหาวิทยาลัยที่ไม่ตอบโจทย์เพราะต้องการใช้ความเร็ว ขณะที่รถยนต์ที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยทำให้เกิดสภาพจราจรติดขัด ขณะเดียวกันระบบขนส่งที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น เช่น รถโดยสารสาธารณะไม่ได้ตอบโจทย์การเดินทาง เพราะไม่สะดวกและไม่คล่องตัว เมื่อต้องเปลี่ยนอาคารเรียน หรือ เดินทางกลับหอพัก อย่างไรก็ตาม จยย.ไฟฟ้า ดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และด้วยความเร็วที่ต่ำทำให้ลดการเกิออุบัติเหตุได้ รวมถึงนักศึกษาสามารถใช้พลังงานได้ฟรี เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยขับเคลื่อนการใช้ จยย.ไฟฟ้า มากขึ้น เละจะเป็นโครงการนำร่องให้มหาวิยาลัยอื่นๆนำไปขยายผลแก้ปัญหาจราจรติดขัด และการมีพื้นที่จอดรถยนต์ไม่เพียงพอ
    
นายวันชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีโรงงานผลิต จยย.ไฟฟ้าในไทยโดยไม่ต้องนำเข้าแล้ว และมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนหลักสูตรเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคนไทยที่มีองค์ความรู้ด้านนี้ก็สามารถผลิตรถเองได้ ขณะที่จยย.จากประเทศญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 90 % จึงมองว่า จยย.ไฟฟ้าจะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้ ซึ่งจยย.ไฟฟ้าจะเป็นอีกทางเลือกของการใช้จยย.ในชีวิตประจำวันที่ใช้ความเร็วปานกลาง หลังจากที่สังคมไทยต้องใช้ จยย.ความเร็ว 100 ซีซี ซึ่งเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดทักษะการขับขี่ แต่ไม่มีทางเลือกเมื่อต้องใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปโรงเรียนหรือเดินทางโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด.