สรรพากรยกเว้นค่าปรับเอสเอ็มอียื่นภาษีย้อนหลัง
เศรษฐกิจ
ส่วนคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ มีรายได้ทางภาษีไม่เกิน 500 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่ครบ 12 เดือน ซึ่งสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 ก.ย. 61 นอกจากนี้ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 ก.ย.61 ภายในวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา และไม่เป็นผู้ออกหรือใช้ใบกำกับภาษีอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนแล้ว
"บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิดังกล่าว และได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระหรือนำส่งภาษีอากรให้ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญา สำหรับภาษีเงินได้นิติ บุคคลสำหรับรอบระยะเวลาที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.59 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับเดือนภาษีม.ค.59 ถึงก.พ.62 อากรแสตมป์ ที่ชำระเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.59 จนถึงวันที่ 25 มี.ค.62 นอกจากนี้ ภาษีอากรทุกประเภทที่มีหน้าที่ต้องหักหรือนำส่งสำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.59 จนถึงวันที่ 25 มี.ค.62"
ทั้งนี้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากรและได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรสำหรับภาษีอากรทุกประเภทตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ให้ครบถ้วน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 62 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63 เว้นแต่มีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับประโยชน์ในด้านบัญชีหรืองบการเงินที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และทำธุรกรรมการเงินได้โดยสะดวก ลดต้นทุนในการประกอบกิจการ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้