ข่าวจี้ยกเครื่องเก็บข้อมูลอุบัติเหตุ หาจำเลยคน-ถนน ทช.ตื่นแล้ว - kachon.com

จี้ยกเครื่องเก็บข้อมูลอุบัติเหตุ หาจำเลยคน-ถนน ทช.ตื่นแล้ว
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายธิบดี หาญประเสริฐ นายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย กล่าวในเวทีระดมความคิดเห็น สร้างความปลอดภัย ลดการตายบนถนนด้วยวิศวกรรมศาสตร์ จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภาพรวมอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยยังไม่ลดลง เพราะยังไม่มีการทำงานเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ประเทศญี่ปุ่นใช้เวลาแก้ปัญาหาเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนนับ 10 ปี ขณะที่สถานการณ์ในบ้านเรา เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปเก็บข้อมูลในมิติของคดีความเพียงอย่างเดียว ขณะที่โรงพยาบาลเก็บข้อมูลผู้บาดเจ็บ แต่กลุ่มบุคคลสำคัญที่มักไปถึงที่เกิดเหตุก่อนคือหน่วยกู้ภัยจะไปถึงที่เกิดเหตุก่อนตำรวจด้วยซ้ำ จะเห็นภาพของอุบัติเหตุที่ชัด

นายธิบดี กล่าวต่อว่า ซึ่งควรมีการอบรมการเก็บข้อมูล ทำแบบฟอร์มให้กู้ภัยร่วมเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสภาพรถที่ชน สภาพถนน สถิติของพื้นที่อุบัติให้ข้อมูลเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งระบบแล้วนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ว่าเกิดจากสาเหตุไหน เพื่อจะดำเนินการแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งประเทศญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ให้ อย่างไรก็ตามในมิติของวิศวกรรมยานยนต์ เทรนด์การผลิตรถของโลกให้ความสำคัญเรื่องการเซฟชีวิตผู้ขับขี่อย่างสูงสุดเช่นมีระบบเบรคเอบีเอส ถุงลมนิรภัย แต่ที่น่าเป็นห่วงรถยนต์รุ่นเก่าที่ขาดการบำรุงรักษา จะเป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุบนท้องถนน



นายธิบดี กล่าวอีกว่า วิธีเก็บข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นระบบ ถ้าทำทั้งประเทศยาก แต่ควรเริ่มทำจังหวัดนำร่องก่อน มองว่า จ.ขอนแก่นมีความเหมาะสม เพราะเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสานและมีสภาพถนนที่หลากหลาย ทั้งในเขตเมืองและชนบท นอกจากนี้ควรสร้างจิตสำนึกเรื่องอุบัติเหตุในโรงเรียน สถาบันการศึกษา พร้อมกันนี้ควรมีบอร์ดแสดงสถิติอุบัติเหตุ โชว์ในนักเรียน นักศึกษา ได้เห็นในสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้

ด้านนายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเน้นการตรวจสอบปัจจัยทางถนนเป็นหลัก ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยด้านผู้ใช้ถนน (Road Users) และปัจจัยทางด้านยานพาหนะ (Vehicles) หรือการดำเนินการสืบสวนอุบัติเหตุ (Road Accident Investigation) จึงส่งผลให้ยังคงปรากฏสถิติการเกิดอุบัติเหตุในจุดที่ได้แก้ไขไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มอบหมายให้สำนักฝึกอบรมร่วมกับสำนักงานตรวจสอบความปลอดภัยงานทาง พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการงานสืบสวนอุบัติเหตุของ ทช. เพื่อให้บุคลากร ทช.มีความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติการงานสืบสวนอุบัติเหตุของมากขึ้น ซึ่งได้จัดการประชุมจำนวน 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.จนถึง วันที่ 17 พ.ค.62 ในพื้นที่ จ.ตาก กาฬสินธ์ ปทุมธานี ระยอง และสงขลา