ข่าวเปิดเทอร์มินอลบินอุบลฯ โฉมใหม่ ก.ค.นี้ - kachon.com

เปิดเทอร์มินอลบินอุบลฯ โฉมใหม่ ก.ค.นี้
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แจ้งว่า วันที่ 18 เม.ย.62 ทย.จะเปิดรับข้อเสนอการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานอุบลราชธานี ขนาด 2,128.41 ตารางเมตร (ตร.ม.) คาดว่าจะมีรายได้เข้ารัฐประมาณ 30 ล้านบาท โดยใช้วิธีประมูลเป็นล็อกๆ รวมประมาณ 36 ล็อกมีเงื่อนไขว่าเอกชนแต่ละรายจะชนะการประมูลได้ไม่เกิน 2 ล็อก เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด คาดว่าจะประกาศชื่อผู้ชนะการประมูลได้ปลายเดือน เม.ย. และเปิดให้บริการเดือน ก.ค.62 พร้อมเปิดใช้อาคารผู้โดยสารโฉมใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงให้ทันสมัย สวยงามและเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร หลังจากไม่ได้ปรับปรุงมานานกว่า 20 ปี

รายงานข่าวจาก ทย. แจ้งต่อว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าว ประกอบด้วยร้านอาหาร, ร้านเครื่องดื่ม, ศูนย์อาหาร (ฟู้ดคอร์ท), ร้านขายสินค้าที่ระลึก และร้านสะดวกซื้อ เป็นต้นโดยราคาเช่าพื้นที่แต่ละล็อกจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับที่ตั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ 200-500 บาทต่อ ตร.ม. ขนาดพื้นที่ของล็อกอยู่ที่ 15-50 ตร.ม. ซึ่งท่าอากาศยานอุบลราชธานีได้จัดกิจกรรมประชุมชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประมูลไปแล้ว พร้อมพาผู้ประกอบการเยี่ยมชมพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารซึ่งมีเอกชนสนใจร่วมกิจกรรมกว่า 20 ราย เพื่อประกอบกิจการ เช่น ร้านกาแฟ CaféAmazon, ร้านกาแฟ Black Canyon, ร้านAuntie Anne’s, ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านค้าในเครือเซ็นทรัลเรสเตอรอง กรุ๊ป (CRG)



รายงานข่าวจาก ทย. แจ้งอีกว่า แม้จะเปิดการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ทย. ยังคงสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนจึงได้จัดสรรพื้นที่ประมาณ 30% ของพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดให้แก่ กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อเข้ามาขายสินค้าชุมชน และสินค้าโอท็อป โดยไม่ต้องเข้าร่วมประมูลใช้วิธีคัดเลือกผู้ประกอบการท้องถิ่นในวันที่ 1 เม.ย. หากใน 1 กิจกรรม เช่น ร้านขายของฝากมีผู้ประกอบการหลายรายเกินจำนวนที่กำหนดไว้ จะใช้วิธีจับสลาก เพื่อความยุติธรรมส่วนค่าเช่าพื้นที่จะใช้อัตราเดียวกับผู้ประกอบการทั่วไป

รายงานข่าวจาก ทย. แจ้งต่อว่ายืนยันว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่ของท่าอากาศยานอุบลราชธานีไม่ได้สูงมากนักและในเงื่อนไขรายละเอียดการประมูล (ทีโออาร์) กำหนดชัดเจนว่า ราคาสินค้าต้องเป็นราคาเดียวกับราคาที่ขายในเมืองห้ามขายแพง เช่น ร้านสะดวกซื้อ ในเมืองขายน้ำ 7 บาท ในสนามบินก็ต้องขาย 7 บาทเช่นกันและหากในเมืองมีจัดโปรโมชั่นใดๆ ในสนามบินก็ต้องมีโปรโมชั่นนั้นๆ ด้วย มั่นใจว่าผู้ใช้บริการท่าอากาศยานอุบลราชธานีจะไม่ได้รับผลกระทบ และยังคงมีค่าครองชีพเหมือนปกติ

รายงานข่าวจาก ทย. แจ้งอีกด้วยว่า  ปี 61 ท่าอากาศยานอุบลราชธานี มีผู้โดยสาร 2.2 ล้านคน มี 4 สายการบินให้บริการ รวม 32 เที่ยวบินต่อวัน(ไป-กลับ) ประกอบด้วยเส้นทาง กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ได้แก่ สายการบินนกแอร์ 12 เที่ยวบิน, ไทยไลอ้อนแอร์ 8 เที่ยวบิน, ไทยแอร์เอเชีย 4 เที่ยวบิน และไทยสมายล์ 6 เที่ยวบิน และเส้นทางอุดรธานี-อุบลราชธานี สายการบินนกแอร์ ให้บริการ 2 เที่ยวบิน