ส่งออกเครื่องประดับยังสดใสตลาดโลก
เศรษฐกิจ
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในช่วง 2 เดือนกลับมาฟื้นตัวขึ้น มาจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 11.84% จากการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา ในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธ.ค.61 และยังมีการส่งออกเพิ่มขึ้นของพลอยสี 6.97%โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของพลอยเนื้อแข็งเจียระไน 11.01% พลอยก้อน เพิ่ม 5.22% และเครื่องประดับเทียม เพิ่ม 3.03%
ส่วนเครื่องประดับแท้ ส่งออกลดลง 2.88% เครื่องประดับเงิน ลด 11.25% จากการส่งออกไปเยอรมนี สหรัฐฯ ฮ่องกง และออสเตรเลียได้ลดลง แต่จีนยังขยายตัวได้สูงถึง 83.75% เครื่องประดับทอง ลด 3.06% จากการส่งออกไปฮ่องกง และสหรัฐฯ ลดลง เครื่องประดับแพลทินัม ลด 16.99% จากการส่งออกไปฮ่องกง และสหรัฐฯ ลดลง เพชร ลดลง 12.84% จากความต้องการบริโภคเพชรที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่า แนวโน้มการบริโภคเพชรจะดีขึ้น หลังสมาคมผู้ผลิตเพชรได้ออกแคมเปญกระตุ้นการซื้อเพชรออกมาในปีนี้
นางดวงกมลกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ จะยังคงทรงตัว และเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มมีทิศทางที่คลี่คลายลง แต่ก็ต้องจับตาความไม่แน่นอนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็คซิท) ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจจะกลับมาแข็งค่า ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวลง
ทั้งนี้ สถาบันอัญมณีฯ มีข้อเสนอแนะให้ผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงินบาท และต้องผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า เป็นต้น