เกษตรกรเฮ!กฟผ.ผนึกนักวิจัยติดแผงโซลาร์แปลงข้าวสำเร็จ
เศรษฐกิจ
“เป็นเรื่องน่าที่ภูมิใจ ที่ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นฝีมือคนไทย นำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมีลักษณะเป็นตารางหมากรุกสลับกับช่องใส ทำจากซิลิคอนชนิดผลึก เป็นครั้งแรกของโลกมาวิจัย เพื่อนำพื้นที่ใต้แผงโซลาร์ผลิตไฟฟ้ามาทำการเกษตรได้ โดยพบว่า สามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ด้านนอก ซึ่งกระทรวงพลังงานจะนำข้อมูลจากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่มีมูลค่าสูง สำหรับชุมชน เกษตรกรรม และโรงเรียน รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่ระบบฟาร์มอัจฉริยะในอนาคต ซึ่งประโยชน์จะตกอยู่กับเกษตรกรโดยตรง สามารถปลูกพืชได้ผลดีดังเดิม และสามารถนำพื้นที่ไปติดตั้งแผงโซลาร์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์มาใช้ในครัวเรือน และระบบสูบน้ำ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้”
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวว่า โครงการวิจัยการใช้โซลาร์เซลล์กึ่งใสร่วมกับการทำเกษตรกรรมการปลูกข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ ณ สวนน้ำพระทัย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อสร้างความเชื่อมโยงผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อภาคเกษตร โดยน้ำที่ใช้ปลูกข้าวนำมาจากบ่อพักน้ำของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 ที่ผ่านการปรับสภาพน้ำและผ่านการตรวจสอบจากห้องทดลองที่รับรองมาตรฐานแล้วว่า สามารถใช้ปลูกพืชทางการเกษตรและสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย
นายสุรเชษฐ เดชฟุ้ง หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการวิจัยนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้กับเกษตรกรรมการปลูกข้าว ได้มีการออกแบบแผงโซลาร์เซลล์กึ่งใสให้มีลักษณะเป็นตารางหมากรุกสลับกับช่องใส โดยใช้โซลาร์เซลล์กึ่งใสที่ทำจากซิลิคอนชนิดผลึกรวม จำนวน 227 แผง ให้พลังงานไฟฟ้า 155 วัตต์ต่อแผง กำลังผลิตติดตั้ง 35.19 กิโลวัตต์ วางแผงโซลาร์เซลล์ทำมุม 17 องศา หันรับแสงทางทิศใต้ ความสูงประมาณ4 เมตร โดยอาศัยหลักการปรับอัตราส่วนพื้นที่ทึบแสงต่อพื้นที่โปร่งแสงในแผ่นโซลาร์เซลล์ตามความต้องการความเข้มแสงที่แตกต่างกันของพืช พร้อมติดตั้งระบบติดตามข้อมูลด้วยเซนเซอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบเรียล ทาม เช่น ตัววัดค่าความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้นอากาศ ความเร็วลม ระดับน้ำ ความแข็งแรงของโครงสร้าง