ข่าวคุมขับขี่ปลอดภัยมั่นใจไร้แอลกอฮอล์ - kachon.com

คุมขับขี่ปลอดภัยมั่นใจไร้แอลกอฮอล์
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พร้อม นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.),พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และนายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ  ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์”

นายกมล เปิดเผยว่า กรมฯ พร้อมให้การสนับสนุนโครงการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะการขับขี่ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งการเมาแล้วขับเป็นสาเหตุสำคัญของสถิติการเสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอัตราการตายบนท้องถนนมักจะเพิ่มขึ้น 100% จากวันละ 60 คนเป็นวันละ 80-120 คน เป็นมาแบบนี้ทุกปี ปีนี้ก็เช่นกันจึงต้องเร่งรณรงค์ส่งเสริมจิตสำนึกผู้ขับขี่ หลังจากนี้ตั้งเป้าผลักดันการตรวจแอลกอฮอล์และสร้างวินัยการขับขี่ให้ประชาชนราว 73,000 รายตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือน พ.ย. 62 โดยใช้งบประมาณ 69 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสงกรานต์ปีนี้ ขบ.จะตั้งจุดปฏิบัติการณ์และตรวจเข้มตามสถานีขนส่งและจุดจอดรถโดยสารทั่วประเทศรวม 195 แห่ง รวมถึงจุดสุ่มตรวจบนถนนสายหลักและถนนสายรองอีกมากกว่า 20แห่ง ซึ่งหากพบว่าผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะมีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 0% จะสั่งให้หยุดขับเพื่อเปลี่ยนพนักงานขับรถทันทีและอาจมีการลงโทษพักงานขับขี่ด้วย เช่นเดียวกับความพร้อมของตัวรถและอุปกรณ์ส่วนควบตาม Checklist ของขบ.ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการเพื่อกำกับดูแลความปลอดภัย หากเกิดข้อผิดพลาดที่มาจากความพร้อมผู้ประกอบการอาจมีความผิดด้วย



ด้าน พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า  ช่วงสงกรานต์ ปี 62 วันที่ 11-17 เม.ย.นี้ หรือช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ สตช.ได้สั่งการให้ตำรวจกว่า 200,000 นายทั่วประเทศ ตั้งด่านตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายบนถนนสายรองทุกเส้นทาง ทั้งนี้ สตช. จะประกาศสงครามกับผู้ที่เมาแล้วขับ และจะใช้ทุกมาตรการอย่างเข้มงวด ซึ่งได้ประกาศสงครามกับคนเมาแล้วขับอย่างจริงจัง โดยตำรวจจะตรวจทุกเส้นทางบนถนนสายรอง ซึ่งหากเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้สั่งการให้เจ้าพนักงานตรวจหาแอลกอฮอลล์ของคู่กรณีทุกราย เพื่อกีดกันผู้ที่ดื่มแล้วขับออกจากบนท้องถนน ทั้งนี้ สตช. อยู่ระหว่างปรับแก้เพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับเมาแล้วขับ ใน 3 มาตรการ คือ 1.เจ้าของรถที่ให้ยืมจะมีความผิด 2.ร้านที่จำหน่ายสุราให้ผู้ขับขี่แล้วดื่มจะได้รับความผิดด้วย และ 3.การผู้โดยสารที่นั่งมาด้วย หากพบว่าผู้นั่งมาด้วยเมาหรือคนใดคนหนึ่งในรถเมา หรือพบว่ามีการดื่มสุราในรถ หรือตรวจค้นพบเจอเครื่องดื่มสุราภายในรถ โดยใช้ข้อหาสนับสนุนให้กระทำความผิด โดนเมาแล้วขับถูกจับทั้งคัน ซึ่งโมเดลดังกล่าวประเทศญี่ปุ่นเคยใช้แล้วประสบความสำเร็จอุบัติเหตุลดลง ซึ่งปรับแก้กฎหมายนำมาใช้ในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุเมาแล้วขับเกิดขึ้นอีกในไทยอีก

ส่วน นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า ปี 61 ไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 20,169 คน สาเหตุสำคัญการเกิดอุบัติเหตุทางถนนประการหนึ่ง คือ เมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อพัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและมีความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย  โดยกำหนดให้อุบัติเหตุจราจรทุกกรณีทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือมีทรัพย์สินเสียหาย ผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่ายต้องถูกตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ หากผู้ขับขี่สามารถตรวจทางลมหายใจได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ แต่ถ้าผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจทางลมหายใจได้ ให้ส่งตัวไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากสถิติการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งมาเบิกกับกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.61-31 มี.ค.62 มีผลการตรวจแอลกอฮอล์ 1,873 ตัวอย่าง พบว่าผู้บาดเจ็บมีแอลกอฮอล์ในเลือดกว่า 62% ของผู้บาดเจ็บที่ส่งตรวจทั้งหมด และเกินกว่ากฎหมายกำหนด 58% ในกลุ่มที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดมีผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มากถึง 90% ของกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด และมีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป 41% จากข้อมูลสะท้อนให้ทราบว่าในผู้ขับขี่ที่ตรวจพบแอลกอฮอล์จะมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 94% ของผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดทั้งหมด