"ศิริ"ปลื้มโครงการแสงอาทิตย์เพิ่มรายได้ชุมชน
เศรษฐกิจ
ส่วนโครงการติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 14 ราย เพื่อทำการผลิตสมุนไพรอบแห้ง โดยได้รับการสนับสนุนติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ในปี 57 ขนาดพื้นที่ระบบ 49.2 ตรม. โดยพพ. ยังได้สนับสนุนเงินลงทุน 50% หรือ 179,000 บาท ชุมชนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 2,667 กิโลกรัมต่อปี ช่วยลดระยะเวลาในการอบแห้ง ลดมูลค่าที่สูญเสียจากการอบแห้งแบบเดิมได้ถึง 39,405 บาทต่อปี
โครงการอบแห้งและเกษตรอินทรีย์ กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เกษตร แปรรูปบ้านตอไม้แดง และ บานาน่ารีสอร์ท อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันมีสมาชิก 95 ครัวเรือน มีพื้นที่เพาะปลูกโดยรวม 380 ไร่ จากเดิมก่อนใช้โดมพาลาโบล่า กระบวนการผลิตได้ใช้การตากแบบวิถีชาวบ้าน ทำให้เกิดปัญหาด้านความสะอาด ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์ กระทบต่อความเชื่อมันของผู้บริโภคและกระทบต่อรายได้ของสมาชิก
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับการสนับสนุนติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ในปี 56 ขนาดพื้นที่ระบบ 166.4 ตรม. โดยพพ. ยังได้สนับสนุนเงินลงทุน 50% หรือ 688,000 บาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสะอาด สะดวก ประหยัดและมีคุณภาพมากขึ้น โดยสามารถมีกำลังผลิตกล้วยตากได้ถึง 23 ตันต่อปี และทำให้สมาชิกมีรายได้จากการปลูกกล้วย ปลอก-ตากกล้วย บรรจุภัณฑ์และรายได้ส่วนต่างจากการขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลรวมสมาชิกจะมีรายได้เฉลี่ยแล้วประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน
โครงการอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ Happy Life Farm อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรกว่า 10 ราย รวมกันแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ เห็นหลินจือ เห็ดทั่วไป ข้าวเกรียบ ดอกอัญชัน กล้วย โดยได้รับการสนับสนุนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จากสำนักงานพลังงานจ.นครปฐม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มกว่าแสนบาทต่อปี
โครงการอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ วิสาหกิจชุมชนดอนตูม(แม่ฉุย) อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 140 ราย ทำการผลิตมะเขือเทศสด และการผลิตมะเขือเทศราชินีแช่อิ่มอบแห้งตราแม่ฉุย โดยได้รับการสนับสนุนติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ในปี 55 ขนาดพื้นที่ระบบ 166.4 ตรม. โดยพพ. ยังได้สนับสนุนเงินลงทุน 60% หรือ 728,800 บาท โดยภายหลังการติดตั้งระบบฯ พบว่า ชุมชนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 28,000 กก.ต่อปี มูลค่าผลิตภัณฑ์ 7,000,000 บาทต่อปี ช่วยลดระยะเวลาในการอบแห้ง ลดมูลค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ (LPG) จากการอบแห้งแบบเดิมได้ถึง 798,000 บาท ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น