ชาวบ้านใกล้"สนามบินตรัง"เซ็งเครื่องบินทำบ้านพัง
เศรษฐกิจ
นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า จากการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานตรัง ครั้งที่ 2 ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อ.เมือง จ.ตรัง เมื่อเร็วๆ นี้ มีชาวบ้านประมาณ 30 หลังคาเรือน ที่อาศัยอยู่บริเวณหัวทางวิ่ง 26 ด้านทิศตะวันออกของท่าอากาศยาน บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 404 แจ้งว่า เวลานี้ได้รับผลกระทบด้านเสียง และความสั่นสะเทือนจากการขึ้น-ลงของอากาศยาน ทำให้บ้านหลายหลังกระจกแตก ฝาผนังร้าว และหลังคาได้รับความเสียหาย จึงขอให้ ทย.จัดซื้อที่ดินบริเวณที่ได้รับผลกระทบด้วย
นางอัมพวัน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ทย. และบริษัท เอ บี อี เอ็น เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดความสั่นสะเทือน และดำเนินการตรวจสอบผลกระทบด้านเสียงและความสั่นสะเทือนจากการขึ้น-ลงของอากาศยานที่ท่าอากาศยานตรังแล้ว โดยทำการวัดผลกระทบตั้งแต่เที่ยวบินแรกที่ทำการบินของวันที่ 8 เม.ย.62 จนกระทั่งเที่ยวบินสุดท้ายของวันที่ 9 เม.ย.62 เป็นเวลา 2 วัน และติดตั้งบริเวณบ้านเรือนที่ได้รับผบกระทบด้วย ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจวัดครั้งนี้ได้รับความสนใจ และความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านเป็นอย่างดี ทั้งนี้เบื้องต้นทราบว่าจะรายงานผลการตรวจสอบให้ ทย.ทราบในวันที่ 23 เม.ย.นี้ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาดำเนินการต่อไป
นางอัมพวัน กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานตรัง ประกอบด้วย การต่อเติมความยาวทางวิ่ง(รันเวย์) จากเดิมขนาด 2,100x45 เมตร เป็น 2,990x45 เมตร, ติดตั้งไฟนำร่องอากาศยาน อีก 225 เมตร พร้อมไหล่ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดอากาศยาน และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้น จากปัจจุบันรองรับได้ 300 คนต่อชั่วโมง(ชม.) หรือ 8 แสนคนต่อปี เป็น 1,200 คน ต่อชม. หรือ 3.2 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามขณะนี้ท่าอากาศยานตรัง มีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก เกือบ 1 ล้านคนต่อปีแล้ว และยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง.