ข่าวร้อนตับแตก43องศาคาดใช้ไฟทำสถิติสูงสุด - kachon.com

ร้อนตับแตก43องศาคาดใช้ไฟทำสถิติสูงสุด
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ หรือพีคปีนี้ อยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 4.6% ทำสถิติสูงสุด ตั้งแต่คาดการณ์มา โดยเกิดขึ้นช่วงฤดูร้อน ระหว่างปลายเดือนเม.ย.-ต้นเดือนพ.ค.นี้  เนื่องจากเป็นผลจากปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์อุณหภูมิอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงขึ้น หรือลงทุก 1 องศาเซลเซียสจะมีผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าประมาณ 400 เมกะวัตต์ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง  ส่งผลให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
 
" ปี 61 พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เม.ย. เวลา 13.51น. อยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์ ภายใต้อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส จากสถิติในช่วง 3-5ปีที่ผ่านมา พบว่า พีคของประเทศสูงขึ้นทุกปี แต่บางปีอาจชะลอลงตามสภาพอากาศที่แปรปรวน ขณะที่พีคในระบบของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือกฟภ. การไฟฟ้านครหลวง หรือกฟน. อาจลดลงจากการเติบโตของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองที่มากขึ้น โดยปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือนก.พ. ถึงกลางเดือนพ.ค. 62  และสภาพอากาศที่แปรปรวน ล้วนมีผลต่อการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากคาดการณ์ได้” 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมมาตรการสร้างความตระหนักประหยัดพลังงาน และขอความร่วมมือจากภาคประชาชน เอกชน และอุตสาหกรรม ให้ช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านมาตรการ 4 ป. ได้แก่ ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 เพื่อลดพีคไฟฟ้า


นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.บริหารจัดการโรงไฟฟ้าในระบบทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้าไอพีพี  และเอสพีพี  ทำให้มีการทำงานบำรุงรักษาเท่าที่จำเป็น และขอความร่วมมืองดบำรุงรักษานอกแผนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมี.ค. ถึงพ.ค. ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อรักษาความมั่นคง โดยในช่วงฤดูร้อนปีนี้ จะมีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายเพียงพอสำหรับรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งได้ประสานงานกับ ปตท. ในการเพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น