ธพว.จ้างบริษัทไล่ทวง เอสเอ็มอีเหนียวหนี้
เศรษฐกิจ
นอกจากนี้ จะมีการขายทอดตลาดหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งหยุดดำเนินกิจการ เลิกกิจการ ประวิงเวลาการชำระหนี้ หรือไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขหนี้อีก 5,000 ล้านบาท โดยส่วนมากเป็นรายใหญ่ มีดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงสี โรงแรม สนามกอล์ฟ เป็นต้น ซึ่งการขายหนี้เสียออกไปนั้น จะก่อประโยชน์ต่อธนาคาร สามารถระดมเงินทุน เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อคุณภาพดีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้ รวมถึง ช่วยลดหนี้เสีย ซึ่งภายในปีนี้ คาดว่า จะเหลือไม่เกิน 10% หรือ 13,500 ล้านบาท ช่วยให้สถานะทางการเงินของธนาคาร มั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น
นายพงชาญกล่าวว่า ธนาคารได้ลงทุน 600 ล้านบาท เพื่อยกระดับการทำงานสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลสำหรับให้บริการธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ค้ารายย่อยเต็มรูปแบบ โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาพัฒนาระบบ ใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำธุรกรรมแบบครบวงจร โดยได้เริ่มพัฒนาแล้ว และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์แบบภายใน 2 ปี
“การยกระดับธนาคารสู่ดิจิทัลจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยนอกระบบที่มีอยู่จำนวนกว่า 3 ล้านบาท สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ทั่วถึงและสะดวกยิ่งขึ้น ช่วยให้เอสเอ็มอีคนตัวเล็กเพิ่มขีดความสามารถ และตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป ธนาคารจะเร่งทำแผนตลาดเชิงรุกด้วยกิจกรรม รถม้าเติมสุข ถึงถิ่นทั่วไทย โดยจะแบ่งทีมเดินสายลงพื้นที่แนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงบริการ เติมทักษะ ผ่านกิจกรรมสัมมนาอบรมความรู้ เสริมช่องทางตลาด เติมทุนแนะนำสินเชื่อดอกเบี้ยถูก และเติมคุณภาพชีวิต สนับสนุนผู้ประกอบการพาเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในชีวิต”