ข่าวพิษสงครามการค้า-ศก.โลกหด ฉุดส่งออกมี.ค.ลบ4.8% - kachon.com

พิษสงครามการค้า-ศก.โลกหด ฉุดส่งออกมี.ค.ลบ4.8%
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนมี.ค.  มีมูลค่า 21,440.2 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าหดตัว 3.3-4%  ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,435.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว  7.63% ขณะที่ดุลการค้ากินดุล 2,004.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 61,987.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.64% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 59,981.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.20% ดุลการค้าเกินดุล 2,006.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสาเหตุที่ปรับตัวลงมาจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ แม้ว่าเริ่มสัญญาณความชัดเจนมากขึ้น และรวมทั้งจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในสหรัฐฯ และการเมืองในยุโรป รวมถึงความเสี่ยงของภาคสินเชื่อและธนาคารของจีน นอกจากนี้ ราคาส่งออกยังถูกกดดันจากราคาน้ำมัน ที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ที่ WTO และ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ และอัตราแลกเปลี่ยนที่กระทบสินค้าเกษตรบางรายการ ขณะที่สินค้าส่งออกที่ติดลบมากได้แก่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคิดเป็น 16% และเป็นสินค้าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลง 30% ของมูลค่าการส่งออก ขณะที่สินค้ารถยนต์ ขยายตัว 5.6% รวมทั้งสินค้าอาหาร ผักผลไม้มีการส่งออกขยายตัวได้ดีกว่า 30% 

ส่วนตลาดศักยภาพสูงหดตัว 8.9 %เป็นผลมาจากการส่งออกไปอาเซียน-5 หดตัว 15.6% และจีนหดตัว  9% ตามลำดับ  ขณะที่ตลาด CLMV ขยายตัว  0.3% และเอเซียใต้ 1.6%  ด้านตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่  5.5%  เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย 15%  กลุ่มประเทศ CIS หดตัว 8.5% และลาตินอเมริกา   1.2%   ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี ตลาดสหรัฐอเมริกา หดตัว1.4% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และแผงวงจรไฟฟ้า  ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ และเหล็กและผลิตภัณฑ์  

ตลาดสหภาพยุโรป(15) หดตัว 2.6%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และเครื่องปรับอากาศฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกล ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2562 หดตัว  6.5 % ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว  7.4 % สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 62 หดตัว 1.6% 

อย่างไรก็ตาม  หากผลการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศทั้งสหรัฐและจีนจบลงด้วยดี  แนวโน้นราคาน้ำมันตลาดโลก ลดลง หลังจากกลุ่มประเทศโอเปกโดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบียประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน และค่าเงินบาทไม่ผันผวนมากจนเกินไป เชื่อว่าแนวโน้นการส่งออกของไทยไตรมาสที่เหลือของปีนี้น่าจะดีขึ้น   นอกจากนี้หากไตรมาส 2 สามารถส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนเกินกว่า 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้ยอดส่งออกทั้งปีเติบโตเกินกว่า 3-6%  และเร็ว ๆ นี้เตรียมปรับตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปีนี้ใหม่ จากเดิมคาดว่าจะโตไม่น้อยกว่า 8% เพราะหากจะได้ตัวเลขดังกล่าวส่งออกต้องเกินกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ