ข่าวสนข.สัมมนาลดผลกระทบจราจร - kachon.com

สนข.สัมมนาลดผลกระทบจราจร
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 เม.ย. ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซสกรุงเทพฯ นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 การศึกษาจัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร (TIA) ว่า สนข. อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือและมาตรฐานลดผลกระทบทางด้านจราจร เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ให้โครงการที่ก่อสร้างในอนาคตดำเนินการตามคู่มือดังกล่าว ตั้งแต่การออกแบบเพื่อบริหารจัดการการจราจร ประกอบกับเป็นแนวทางในการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ด้วย

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า โครงการที่ต้องจัดทำรายงาน TIA ในอนาคต ประกอบด้วย อาคารสำนักงานของรัฐ ตลาดสด ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย หอประชุมขนาดใหญ่ โรงเรียน สนามกีฬา และสถานีขนส่ง โดยหลังจากนี้ สนข. จะจัดสัมมนาครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอร่างผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ในช่วงต้น มิ.ย. 62 และคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ ก.ค.นี้ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ประกาศเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ รวมทั้งจะเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการ TIA เพื่อพิจารณาอนุมัติแต่ละโครงการด้วย

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะสั้นภายใน 2 ปี จะทำคู่มือและมาตรฐาน TIA แล้วเสร็จ ซึ่งคจร. เสนอแนะให้ สผ. นำ TIA ไปพิจารณาใช้กับรายงานอีไอเอเตรียมเสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร กระบวนการ และวิธีปฏิบัติ ส่วนระยะกลาง ภายใน 5 ปี ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลบังคับใช้กับโครงการที่มีผลกระทบสูง กำหนดมีไว้ในบทเฉพาะกาล โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณการจราจรสูง และตั้งอยู่บริเวณสี่แยก เช่น ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งให้ กทม. และจังหวัด ขณะที่ระยะยาวหลังจาก 5 ปี ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลบังคับใช้กับโครงการ ที่มีผลกระทบปานกลาง เช่น ตลาดสด ตลาดนัด และโรงเรียน ในพื้นที่ กทม. และจังหวัดต่างๆ โดยจะไม่มีผลกระทบย้อนหลังกับโครงการที่ก่อสร้างไปแล้ว

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ผลกระทบโครงการและระดับของการศึกษา TIA ต้องพิจารณาตามปริมาณการเดินทางสูงสุดต่อ ชม. แบ่งเป็น ขนาดเล็กต่ำกว่า 50 คันต่อ ชม. ไม่ต้องทำ TIA, ขนาดปานกลาง 50-300 คันต่อชม. ถ้าตั้งอยู่เทศบาลนครต้องรายงานฉบับย่อ และ ขนาดสูง มากกว่า 300 คันต่อชม. ถ้าตั้งอยู่มหานครต้องทำฉบับเต็ม นอกจากนี้จะเสนอให้ห้างสรรพสินค้าสร้างใหม่ต้องสร้างสกายวอล์ค เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ และเรือด้วย เพื่อเดินทางได้สะดวก และแบ่งเบาภาระทางเข้าออกการจราจรบริเวณหน้าห้างฯ ตลอดจนจุดทางเข้าออกสถานที่ต้องอยู่ตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่กีดขวางการจราจร.