ยังไม่สุด!!ปีหน้าปรับอีกต้องมีเงิน10บาทนั่งรถเมล์ได้
เศรษฐกิจ
- Webmaster
- 2019-04-24 18:11:00
- 10
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่กระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ร่วมกันยื่นฟ้องคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางต่อศาลปกครอง ฐานกระทำการสั่งขึ้นค่ารถเมล์ทั้งระบบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการสร้างภาระให้เกิดขึ้นกับประชาชนเกินสมควร ตาม ม.9(1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยศาลปกครองกลาง ได้รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาไต่สวนแล้วและมีคำสั่งให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาศาลในวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อไต่สวนคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว เพื่อทุเลาการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ได้เลื่อนการไต่สวนมาเป็นวันที่ 24 เม.ย.62 แทน ว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ได้ไปชี้แจงต่อศาลแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าจะมีคำสั่งอย่างไร
นายอาคม กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารนั้นเป็นไปตามมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาตั้งแต่เมื่อเดือน ธ.ค.61และให้มีผลตั้งแต่วันที่21ม.ค.62 แต่เนื่องจากเวลากระชั้นชิดจึงเลื่อนเวลาออกไป 3 เดือน เป็นวันที่ 22เมย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้โดยสารเตรียมตัว ซึ่งหลักการปรับขึ้นไม่ได้ดูเฉพาะค่าเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ดูไปถึงค่าแรงและค่าซ่อมบำรุง รวมถึงต้นทุนในการจัดซื้อรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามขอความเห็นใจผู้โดยสารด้วย เพราะไม่ได้ปรับขึ้นราคามานาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระขาดทุน และการขึ้นราคาครั้งนี้ถือว่าช้ามากแล้ว ที่สำคัญคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ได้ยกเลิกการอุดหนุนค่าก๊าช เอ็นจีวี จำนวน 3 บาท กับรถโดยสารแล้วทำให้ต้นทุนจะสูงขึ้น
นายอาคม กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นราคาในวันที่22เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นอัตราที่ต่ำ เท่ากับอัตราที่คณะกรรมควบคุมขนส่งทางบกกลางเคยมีมติไว้เมื่อปี 58 แต่คณะกรรมการ(บอร์ด)ขสมก.ได้มีมติที่จะปรับขึ้นค่าโดยสารอีกครั้งในวันที่ 22เม.ย. 63 เพราะการปรับขึ้นครั้งนี้ยังไม่เต็มเพดานที่คณะกรรมการฯอนุมติไว้คือ 10 บาท เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินไป โดยจะต้องนำเสนอคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นคงต้องพิจารณาราคาเชื้อเพลิง และปัจจัยอื่นควบคู่ไปด้วยด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวถึงกรณีที่ ปตท. จะยกเลิกการอุดหนุนราคาก๊าซเอ็นจีวีในเดือนพ.ค.นั้น ขสมก. ต้องไป หารือกับ ปตท. เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องราคาเอ็นจีวี เนื่องจากผลการประมูลก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชครั้งใหม่นั้นพบว่ามีราคาถูกลงทำให้ต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีของแหล่งบงกชถูกลงด้วย
ด้านนายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการ ผอ. ขสมก.กล่าวว่า ขสมก.จะไปหารือกับ ปตท. เพื่อขอให้ ปตท. พิจารณาขยายระยะเวลาการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีให้กับรถร่วม ขสมก.ซึ่งเป็นรถร่วมบริการ(เอกชน) ส่วนรถเมล์ ขสมก. นั้น ปกติก็ไม่ได้รับการอุดหนุนจาก ปตท. แต่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารในปีหน้านั้น หากคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางจะให้ทบทวนหรือมีมติใหม่ให้ชะลอปรับขึ้นค่าโดยสาร ขสมก.ก็ต้องทำตาม ขณะที่การปรับขึ้นค่าโดยสารช่วงนี้คงเป็นไปตามนั้นก่อน จนกว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งออกมา
รายงานข่าวจากระทรวงคมนาคม แจ้งว่า มติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง เรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร ดังนี้ 1.รถเมล์ร้อน ให้ปรับได้ไม่เกิน 10 บาท/คน/เที่ยว เก็บค่าโดยสารจริงที่ 8 บาท/คน/เที่ยวจากเดิมที่เคยเก็บที่ 6.50บาท/คน/เที่ยว และหากมีการจัดเก็บค่าโดยสารราคาใหม่ในปี 63 จะเก็บที่ 10บาท/คน/เที่ยว , 2. รถโดยสารปรับอากาศครีมน้ำเงิน มีราคาตั้งแต่ 10-18บาทตามระยะทาง ปรับเป็น 12-20 บาท ตามระยะทาง, รถปรับอากาศยูโรทู มีราคาตั้งแต่11-23บาทตามระยะทางปรับเป็น 13-25บาท ตามระยะทาง รวมถึงรถปรับอากาศใหม่(เอ็นจีวี) ให้คิดราคา ระยะทาง 4 กม.แรก ราคา 15 บาท ตั้งแต่ 4-16 กม. ราคา 20 บาท และตั้งแต่ 16 กม.ขึ้นไป ราคา 25 บาท 3. ค่าทางด่วน กรณีที่ผู้โดยสารใช้ทางด่วน ให้กำหนดค่าทางด่วน เพิ่มจากค่าโดยสารปกติ 2 บาทต่อคนต่อเที่ยว และ 4. รถบริการตลอดคืน (เวลา 23.00 - 05.00 น.) ให้กำหนดค่าธรรมเนียมบริการตลอดคืน เพิ่มจากค่าโดยสารปกติ 1.50 บาทต่อคนต่อเที่ยว นอกจากนี้ในส่วนของรถร่วมบริการฯขสมก.นั้น ปรับขึ้นในอัตรา 1 บาท โดยจากเดิม 9 บาท เป็น 10 บาท