ข่าวรัฐสั่งลุย จ่อ"ลดดอก-ต้น-ค่าปรับ"ช่วยลูกหนี้กยศ.5แสน - kachon.com

รัฐสั่งลุย จ่อ"ลดดอก-ต้น-ค่าปรับ"ช่วยลูกหนี้กยศ.5แสน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังกำลังจัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อออกใช้ในช่วงกลางปีนี้ ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยสาระสำคัญจะเปิดให้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ออกมาตรการพิเศษ ลดวงเงินกู้ ลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ ช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นลูกหนี้กยศ. ทั้งที่กำลังเรียนอยู่ เรียบจบแล้ว หรือกำลังคิดจะกู้เรียนในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับ 10อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต (นิวเอสเคิร์ฟ) ให้ได้รับการลดภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระแต่ละงวด และสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาแรงงานเข้าสู่10อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้เบื้องต้นมีลูกหนี้ กยศ.เรียนอยู่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่ระดับปวช. ปวส. ปวท. อนุปริญญา และปริญญาตรี เข้าข่ายได้รับสิทธิถึง 5.5 แสนราย ซึ่งมียอดหนี้ถึง 7 หมื่นล้านบาท สำหรับมาตรการช่วยเหลือจะพิจารณาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ที่สําเร็จการศึกษาแล้วและมีคุณวุฒิในสาขาวิชาเป้าหมาย แต่ยังอยู่ในระยะเวลาชําระคืนเงินกู้กับ กยศ. อาจพิจารณาลดภาระหนี้หรือไม่คิดเบี้ยปรับ กลุ่มผู้ที่กําลังศึกษาอยู่ กยศ.และไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างพักการเรียน กยศ. อาจช่วยขยายวงเงินสําหรับค่าครองชีพเพิ่มเติมให้ หรือลดดอกเบี้ยให้ และกลุ่มผู้ที่กําลังจะเข้าศึกษาในอนาคตก็จะได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งขณะนี้คลังกำลังหารือรายละเอียดกับ กยศ.อยู่ซึ่งจะได้ข้อสรุปได้ภายในสัปดาห์นี้




สำหรับรายละเอียดกลุ่มคุณวุฒิการศึกษาที่เข้าข่ายได้รับสิทธิพิเศษการกู้ยืมจาก กยศ. ใน 10 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจการตลาด ระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ ช่างกลโรงงาน ช่างเทคนิค แม่พิมพ์ ฝ่ายวัดและควบคุม 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์  คณะคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ระดับปริญญาตรี คณะแพทย์ศาสตร์ ปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพพยาบาล และประกาศนียบัตรแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก

4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ระดับปริญญาตรี ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์อุตสาหกรรม ไฟฟ้า เครื่องกล คณะเกษตรศาสตร์  ระดับอาชีวะ ได้แก่ เครื่องกล ไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างซ่อมบํารุง เทคนิค ช่างเครื่อง ช่างคอมพิวเตอร์ เคมีปฏิบัติ ควบคุมคุณภาพควบคุมวัตถุดิบ  และ 5.อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์อุตสาหกรรม ไฟฟ้า เครื่องกลบริหารธุรกิจ ระดับอาชีวศึกษา เกษตร ประมง

ส่วน6.กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระดับปริญญาตรี ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์อุตสาหการ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล คอมพิวเตอร์ การผลิต ควบคุม รวมถึงระดับอาชีวศึกษา เทคนิค 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ และบริหารธุรกิจ 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและ ระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์เคมี วิทยาศาสตร์เคมี เคมีชีวภาพ ระดับอาชีวช่างกล ช่างเชื่อม ช่างโลหะ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล ระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ 10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ระดับปริญญาตรี ได้แก่ คณะแพทย์ศาสตร์ ระดับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพพยาบาล เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์และห้องแล็บ นักเทคนิคการแพทย์ บุคลากรสนับสนุน