ข่าวการเมือง-ปัจจัยลบต่างประเทศ กดดันเงินบาท - kachon.com

การเมือง-ปัจจัยลบต่างประเทศ กดดันเงินบาท
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า  เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 32  บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 32.02-32.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี  และเป็นการอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 1.5% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา   สำหรับการอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับภาพการลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวังของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย สะท้อนจากสถานะขายสุทธิรวมในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย 18,000 ล้านบาทในช่วง 1 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทยสิ้นสุดลง โดยคงต้องยอมรับว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญของตลาดการเงินไทยที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดหลังการเลือกตั้งคือสถานการณ์ทางการเมืองและความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ทั้งนี้หากเทียบกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นในภูมิภาคแล้ว นับว่าเงินบาทยังอ่อนค่าในลักษณะเกาะกลุ่มไปกับทิศทางของสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากต้องรับมือกับสัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคการส่งออกและเศรษฐกิจในภาพรวมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ก็สามารถทยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับขึ้นมาได้(จากที่ถูกกดดันอย่างหนัก จากสัญญาณยืนอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุม FOMC ในรอบเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา) ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญหลายตัวไม่ได้ออกมาแย่ตามที่ตลาดกังวล ซึ่งสะท้อนว่าปัจจัยพื้นฐานและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
 
สำหรับในระยะข้างหน้าประเมินว่า ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อทิศทางเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ซึ่งอาจต้องติดตามเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า (นอกเหนือไปจากปัจจัยการเมืองในประเทศ) ก็คือ บรรยากาศของตลาดสกุลเงินในภูมิภาค เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่า แนวโน้มของสกุลเงินเอเชียบางสกุล  เช่น วอน-เกาหลีใต้  ริงกิต-มาเลเซีย และรูปี-อินเดียที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากในระยะนี้ ล้วนถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของภาคการส่งออก 

ส่วนปัจจัยเฉพาะทางการเมืองภายใน และความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ในกรอบสูงต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ประกอบการควรศึกษาและเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้สามารถลดทอนผลกระทบและปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากโอกาสที่เงินบาทจะผันผวนตามกระแสของสกุลเงนิในภูมิภาคได้