29 เม.ย.ทดลองวิ่ง "สมาร์ทบัสสระบุรี" เก็บ 20 บาท
เศรษฐกิจ
นายสุชัย เลยะกุล ขนส่งจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า วันที่ 29 เม.ย. นี้ สำนักงานขนส่งจังหวัดสระบุรี ร่วมกับบริษัทสระบุรีพัฒนาเมืองจำกัด จะเปิดทดลองให้บริการรถโดยสารปรับอากาศสาธารณะ (สมาร์ทบัส) สาย 10 ดำเนินตามโครงการศึกษาความเหมาะสมในการยกระดับคุณภาพการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตเมืองสระบุรี เริ่มต้นจากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสระบุรี-ศาลจังหวัดสระบุรี เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.62 โดยจะเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สามารถจ่ายค่าโดยสารด้วยระบบเงินสด และ บัตรรายเดือนที่จะจำหน่ายในราคา 700 บาท โดยใช้บริการไม่จำกัดจำนวนเที่ยว เบื้องต้นจะจัดจำหน่ายที่สำนักงานขนส่งจังหวัดสระบุรี และสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสระบุรี รวมทั้งจุดจอดสมาร์ทบัสใหญ่ๆด้วย
นายสุชัย กล่าวต่อว่า สมาร์ทบัสสระบุรีจะมีรถให้บริการ 2 คัน ตั้งแต่เวลา 06.30-17.30 น. แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสระบุรี-สุขอนันต์-โฮมโปร-สำนักงานขนส่งจังหวัดสระบุรี-โรบินสันสระบุรี-ไทวัสดุ-โรงพยาบาลสระบุรี-วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี-โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม-เอสโบ้โฮมเวิร์ด-สนามกีฬาจังหวัดสระบุรี-ศาลจังหวัดสระบุรี-ชุมชนดาวเรือง-ตลาดสดเทศบาลเมืองสระบุรี และกลับมาที่จุดเริ่มที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสระบุรี สำหรับสมาร์ทบัสสระบุรีนี้จะเป็นรถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็ก (ไมโครบัส ) ขนาด 8-10 เมตร 22 ที่นั่ง รวมที่ยืนได้ประมาณ 30 คน ภายในรถจะมีกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) และ ระบบจีพีเอส ที่เชื่อมต่อกับรถโดยสาร เพื่อติดตามพฤติกรรมการขับรถ และให้ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบตำแหน่งรถที่จะเข้าจุดจอดต่างๆ ได้ที่แอพพลิเคชั่นเวียบัส เพื่อวางแผนในการเดินทางได้
นายสุชัย กล่าวอีกว่า หลังจากเปิดให้บริการแล้วจะเก็บข้อมูลกระแสตอบรับจากผู้โดยสาร ช่วงเวลาที่ให้บริการ และปัญหาอุปสรรค เพื่อนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้โดยสารเป็นอย่างดี เนื่องจากในพื้นที่ อ.เมืองสระบุรีมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1 แสนกว่าคน มีการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผู้โดยสารที่ติดต่อบริการที่โรงพยาบาลสระบุรีที่มีประมาณวันละ 3,000 คน รวมทั้งที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสระบุรี ตามหน่วยงานราชการ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ
นายสุชัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการในพื้นที่ อ.เมืองสระบุรี มีทรุดโทรมมาก ใช้งานมากกว่า 30 ปี และบางครั้งส่งผู้โดยสารไม่ถึงจุดหมายปลายทาง จนผู้โดยสารมีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง และรถโดยสารเหล่านี้ส่วนมากเป็นกลุ่มรายย่อยทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมการเดินรถได้ ดังนั้นการเปิดให้บริการสมาร์ทบัสเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการที่จะนำรถโดยสารสาธารณะมาให้บริการและให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจที่จะลงทุน ตลอดจนเชื่อมต่อรองรับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเหมือนกับในหลายจังหวัดที่เริ่มมีสมาร์ทบัสให้บริการแล้ว เช่น จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และอุดรธานี ทั้งนี้เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งจังหวัดสระบุรีพิจารณา หากประสบความสำเร็จต้องเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาเดินรถในเส้นทางดังกล่าว รวมทั้งมีแนวคิดจะเสนอกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้มีจัดตั้งกองทุน และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารกองทุน จากนั้นนำรายได้จากการจัดเก็บค่าภาษีรถประมาณ5% เข้ากองทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริหารและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดที่ดีมีคุณภาพต่อไป