สนพ. ชวนตระหนักรู้ด้านพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
เศรษฐกิจ
พลังงานยังเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ของทุกประเทศ แต่ที่ผ่านมา การใช้พลังงานไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในอนาคต ขณะที่พลังงานหลักทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสวนทางกับการใช้พลังงานของโลกที่มีอัตราสูงขึ้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาดังกล่าว จึงอยากชวนคนไทยตระหนักรู้ในเรื่องของพลังงาน เพื่อให้พลังงานมีเพียงพอต่อความต้องการในอนาคตต่อไป
ความตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) หมายถึง ความเข้าใจถึงธรรมชาติ และบทบาทของพลังงานต่อชีวิตประจำวัน และสามารถนำความเข้าใจนั้นไปใช้ตอบคำถามและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพลังงานได้ จึงเป็นประเด็นที่หน่วยงานด้านพลังงานทั่วโลกได้กล่าวถึงและให้ความสำคัญ ดังนั้นจำเป็นต้องรู้ว่าพลังงานคืออะไร สำคัญขนาดไหน และจะรักษาอย่างไรให้เพียงพอต่อไปในอนาคต เพราะพลังงานทุกอย่างมีข้อจำกัด เมื่อเป็นเช่นนั้น ซึ่งอาจทำให้โลกเกิดวิกฤตการณ์ได้
คำว่า “พลังงาน” คือ ความสามารถหรือประสิทธิภาพในการทำงาน โดยการทำให้วัตถุหรือธาตุเกิดการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนรูปแบบไปได้ ซึ่งในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตจำเป็นต้องใช้พลังงานในการประกอบกิจกรรมหรือปฏิบัติงานด้านต่างๆ ทั้งสิ้น โดยจากปัจจัยหลักเหล่านี้ จึงทำให้เกิดการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น วิกฤตพลังงานกำลังคุกคามโลกอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากสิ่งมีชีวิตหรือประชากรบนโลกเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่แหล่งพลังงานบนโลกนี้มีเท่าเดิมหรืออาจจะลดน้อยลงด้วยซ้ำ เพราะไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้เท่าเดิม จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวค่อนข้างรุนแรงและเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้จึงต้องเริ่มตระหนักรู้ และร่วมมือร่วมใจกัน ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยกันได้ ได้แก่ เริ่มจากการใช้พลังงานให้น้อยลง เลือกใช้เท่าที่จำเป็นให้คุ้มค่าที่สุด ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด พลังงานธรรมชาติ และพลังงานทดแทน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและโลก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ไฟฟ้า โดยหันมาใช้มาตราการ 4 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน”
- ปิด อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น
- ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ซึ่งการเพิ่ม 1 องศา จะช่วยประหยัดไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 10%
- ปลด ปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้
- เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบใหม่ ที่มี 1 – 3 ดาว โดยแต่ละดาวจะมีประสิทธิภาพการประหยัดไฟฟ้าได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% และเปลี่ยนช่วงเวลาที่ใช้ไฟฟ้า คือ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ 13.00 – 15.00 น. เพื่อลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวัน และ 19.00 –21.00 น. เพื่อลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืน”