เชียร์นำถนนสร้างมอเตอร์เวย์
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งว่า สนข. ได้จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูล โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลักเดิมให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่ จ.พิษณุโลก และ นครสวรรค์ เมื่อเร็วๆนี้ พบว่า ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2 จังหวัด เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ตามแผนของกรมทางหลวง (ทล.) ได้ ขณะเดียวกันยังแสดงความคิดเห็นว่า หากนำถนนบางส่วนมาก่อสร้างเป็นมอเตอร์เวย์ควรคำนึงประชาชนที่สัญจรในถนนเส้นทางดังกล่าวด้วย ไม่ควรให้ประชาชนได้รับผลกระทบมาก และสามารถสัญจรได้สะดวกเหมือนเดิม ที่สำคัญเมื่อมีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์แล้วทั้ง จ.นครสวรรค์ และ จ.พิษณุโลกไม่ต้องการให้เป็นจังหวัดทางผ่านอย่างเดียว ควรจะมีการพัฒนาพื้นที่ มีทางขึ้นลงมอเตอร์เวย์เข้าสู่ตัวจังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้และจังหวัดมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้จะจัดสัมมนาในรูปแบบเดียวกันอีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 16 พ.ค. ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ วันที่ 17 พ.ค. ที่ จ.ปราจีนบุรี
ปัจจุบันโครงการดังกล่าว สนข. ได้คัดเลือก 2 เส้นทางนำร่องถนนสร้างเป็นมอเตอร์เวย์ คือ 1.สาย 117 ช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก 109 กม. และ 2.สาย 304 ช่วงกรุงเทพฯ-สระแก้ว ระยะทาง 150 กม. เนื่องจากขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) กำลังศึกษาการสร้างมอเตอร์เวย์ ช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์ จึงต้องการให้เกิดการศึกษาที่ต่อเนื่อง โดยให้ สนข. ศึกษาสร้างมอเตอร์เวย์สายนครสวรรค์-พิษณุโลก ขณะที่ สาย 304 ช่วงกรุงเทพฯ-สระแก้ว ทล. มีแผนที่จะศึกษาสร้างมอเตอร์เวย์อยู่แล้ว เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงการขนส่งกับประเทศกัมพูชา และเป็นเส้นทางที่อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ซึ่งจะเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้เป็นช่วงที่ผสมผสานระหว่างการใช้แนวเส้นทางหลวงสายหลักเดิม และการเปิดแนวเส้นทางใหม่ ซึ่งทำให้มีตัวอย่างของโครงการที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ทั้ง 2 สาย เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม มีเขตทางที่เพียงพอประมาณฝั่งละ 50 เมตร และอยู่ในแนวถนนทางหลวงปัจจุบันด้วย
ขณะเดียวกันจะเริ่มศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการนำถนนมาสร้างเป็นมอเตอร์เวย์ อาทิ พิจารณาเรื่องเขตทาง อาจจะแบ่งการใช้พื้นที่ถนน คือ พื้นที่ช่วงตรงกลางจะทำเป็นมอเตอร์เวย์ มีรั้วกั้นเป็นพื้นที่ปิด เพื่อความปลอดภัย ส่วนฝั่ง 2 ข้างทางจะสร้างเป็นถนนให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ สำหรับถนนที่จะทำเป็นมอเตอร์เวย์จะมีจุดบริการ ด่านเก็บค่าธรรมเนียมการใช้มอเตอร์เวย์ การแก้ปัญหาจุดตัดของถนน ทางแยก อาจจะสร้างเป็นทางยกระดับ ตลอดจนการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ มูลค่าโครงการในการก่อสร้าง และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ไออีอี) คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.62 ก่อนจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและมอบหมายให้ ทล. นำไปปฏิบัติในแผนสร้างมอเตอร์เวย์ต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดการณ์ไว้หากพัฒนาถนน 7 สาย 17 ช่วง ระยะทาง 2,790 กม. จะสามารถทดแทนสร้างเป็นมอเตอร์เวย์ได้ และจะช่วยลดเงินลงทุนโครงการลงประมาณ 2 แสนล้านบาท จากแผนแม่บทก่อสร้างมอเตอร์เวย์ของ ทล. จำนวน 21 เส้นทาง ระยะทาง 6,422 กม. วงเงิน 2.7 ล้านล้านบาท ใน 20 ปี (ปี 60-79)