การเมืองกดความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ16เดือน
เศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.ว่า อยู่ที่ระดับ 79.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งกังวลภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า และกำลังซื้อของประชาชนไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 58 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ค.57 ดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 75.6 ลดลงจากเดือนมี.ค.อยู่ที่ระดับ 80.5 ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 66.2 จาก 67.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 74.6 จาก 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 96.7 จาก 98.4 ในเดือนมี.ค. 62
" ปัจจัยความเชื่อมั่นทางการเมืองหลังจากนี้จะเป็นชี้วัดสำคัญ คือ การจัดตั้งรัฐบาลเดือนพ.ค. ต้องดูว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถประกาศผลเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ค. เพื่อนำไปสู่การาจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ รวมทั้งเมื่อประกาศผลแล้วจะนำไปสู่การประชุมร่วม 2 สภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีประสบความสำเร็จหรือไม่ ขณะเดียวกันหากมีการตั้งรัฐบาลแล้วในส่วนของสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนที่ได้ของรัฐบาลเป็นเสียงปริ่มน้ำยากต่อการทำงานหรือไม่ ทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้"
อย่างไรก็ตาม หากเดือนมิ.ย.ตั้งรัฐบาลเรียบร้อยเศรษฐกิจไทยจะกลับมามีความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่หากไม่เป็นไปตามปัจจัยดังกล่าวเศรษฐกิจจะซึมยาว จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ประชาชนกังวลการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงชุมนุมนอกสภาที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย แต่คาดว่าจีดีพีเติบโต 3.5-3.8% ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาล วงเงิน 20,000 ล้านบาทนั้น จะส่งผลดีต่อ เศรษฐกิจไตรมาส 2 ทำให้จีดีพีโต 0.3%
สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญของเดือนเม.ย.62 ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.8% จากเดิมที่คาดโต 4 % หลังคาดว่าการส่งออกไทยปีนี้จะโตเพียง 3.4% จากเดิมตั้งไว้ที่ 4.5% ซึ่งเป็นผลจากทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล และสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตที่อาจมีความไม่แน่นอนและขาดเสถียรภาพ