ข่าวประชุมพาหนะไฟฟ้าแห่งเอเซีย23 พ.ค.นี้ - kachon.com

ประชุมพาหนะไฟฟ้าแห่งเอเซีย23 พ.ค.นี้
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

ผู้สื่อรายงานว่ามูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยแจ้งว่า วันที่ 23 พ.ค. 62 มูลนิธิสถาบันการเดินฯ ร่วมกับบริษัทโกลบอลเอ็กซิบิชั่นแอนด์คอนเวนชั่นเซอร์วิสจำกัด ได้จัดสัมมนางานนิทรรศการแสดงสินค้าและนวัตกรรมพาหนะสองล้อและพาหนะไฟฟ้าแห่งเอเชียTwo Wheels Asia 2019 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทิศทาง ความยั่นยืนสำหรับการใช้รถจักรยาน โดยจะมีประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมสัมมนาด้วย อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และ ในวันที่ 24 พ.ค.62 จะจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน ท่องเที่ยวชุมชน ต.บ้านเลน และ ต.คลองจิก อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 30 คน ทั้งตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้านและผู้ร่วมสัมมนาที่สนใจร่วมกิจกรรม

สำหรับโปรแกรมการปั่นจักรยาน ต.บ้านเลน และ ต.คลองจิก ระยะทาง 34 กม. รูปแบบการเดินทาง ช่วงเช้าจะนั่งรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อไปลงที่สถานีรถไฟบางปะอิน จากนั้นนำจักรยานที่ชุมชนเตรียมไว้ให้ เพื่อปั่นชมเมืองผ่านวัดบ่อชุมพล (นิกายาราม) กราบพระในพระอุโบสถ ผ่านพระราชวังบางปะอิน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติบางปะอิน  โดยมัคคุเทศก์น้อยจากชุมชน ปั่นเข้าชมตลาดโอทอป นวัตวิถี ปั่นชมวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จากนั้นเดินทางปั่นไปชุมชน ต.คลองจิก เพื่อเยี่ยมชมฟาร์มเห็ด บ่อปลาร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปั่นไปวัดวิเวกวายุพัด ชมราชูทิศเจดีย์ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นปั่นจาก ต.คลองจิก เพื่อมาขึ้นรถไฟเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ สำหรับกิจกรรมดังกล่าวผู้เข้าร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากทางบริษัทโกลบอลฯ ได้สนับสนุนให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นให้ทางมูลนิธิสถาบันฯ เป็นพี่เลี้ยงประสานชุมชนให้จัดเตรียมจักรยาน แนะนำสถานที่ปั่น และ อาหาร

ทั้งนี้ ต.คลองจิกเป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างต้นแบบในโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะช่วยพัฒนาส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของชุมชน รวมทั้งการปั่นจักรยานยังช่วยด้านสุขภาพที่ดีและแข็งแรง ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และมีสุภาวะที่ดี ถ้าหากผู้ร่วมกิจกรรมที่เป็นตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้านสามารถศึกษาชุมชนจักรยานคลองจิก แล้วนำกลับไปพัฒนาประยุกต์ใช้กับประเทศตนเองได้จะเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์มาก เพราะการที่จะเกิดชุมชนจักรยานได้ต้องมาจากความร่วมมือของคนในชุมชนเอง ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนามมีบริบทคล้ายกับไทยและสามารถดำเนินการที่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว