ศูนย์วิจัยฯเผยเปิดเทอมเงินสะพัด28,220 ล้านบาท
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 (นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ในช่วงระหว่างวันที่ 1-28 เม.ย.ที่ผ่านมาจากกลุ่มตัวอย่าง 450 คนพบว่า ผู้ปกครองกว่า 54.2% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในด้านการศึกษา แต่ยังมีแนวทางรองรับเนื่องจากการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และเปิดเทอมใหญ่ในปีนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือในการซื้อสินค้า เพื่อการศึกษาสำหรับผู้ปกครองที่ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายสำหรับผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้า เพื่อการศึกษาและกีฬา สำหรับประชาชนผู้เสียภาษี เช่น ค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน และกีฬา รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีนี้ผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลาน (นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) มูลค่าประมาณ 28,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนนักเรียนใหม่ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้น (แต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงตามอัตราการเกิดที่ชะลอลง) และการใช้จ่ายในส่วนของการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบ อาทิ ค่าเรียน พิเศษ/กวดวิชาและเสริมทักษะ ซึ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาของบุตรหลานในภาวะการแข่งขันทาง การศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500-5,000 บาทต่อคน
นอกจากนี้ปัจจัยในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญอันดับแรกกับชื่อเสียงของโรงเรียน รองลงมา คือ การเดินทางสะดวก ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก สภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม และความเข้มข้นทางวิชาการ/ หลักสูตร ทำให้ผู้ปกครองส่วนหนึ่งจะมีการวางแผนทางการเงินเพื่อใช้จ่ายในส่วนนี้่
ขณะเดียวกันผู้ปกครองมีมุมมองต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของไทยว่า อยากให้มีการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในระบบให้มีคุณภาพ เพื่อที่จะไม่ต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม (38.9% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) สำหรับสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้ มีการพัฒนารองลงมา คือ การวางแผน การศึกษาของไทยและการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่กำลังจะเปลี่ยนไป และให้เด็กนักเรียนสามารถเตรียมความพร้ อมก่อนเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเมื่อจบออกมามีตลาดแรงงานที่รองรับ เพื่อประกอบอาชีพและสร้างรายได้ที่เหมาะสมกับคุณวุฒิในระยะข้างหน้า