ข่าว"รถทัวร์"ปาดน้ำตาสู้โลว์คอสต์ - kachon.com

"รถทัวร์"ปาดน้ำตาสู้โลว์คอสต์
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s


นายพิสิษฐ์ สิทธิธนัญชัยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเทพสมบัติจำกัด ผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารสมบัติทัวร์ กล่าวว่า ในยุคนี้ยอมรับว่ารถทัวร์ได้ผลกระทบจากสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) เกือบทุกจังหวัดที่สายการบินให้บริการ เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะสายการบินโลว์คอสต์ค่าโดยสารราคา 400-600 บาท ขณะที่รถทัวร์ 800-900 บาท เนื่องจากค่าโดยสารต้องเป็นไปตามกลไกกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด ไม่ได้ปรับเป็นเสรี ซึ่งบริษัทมีรถทัวร์ให้บริการ 200 กว่าคัน ครอบคลุม 30 เส้นทางทั่วประเทศ ยกเว้นภาคตะวันออก ได้แก่ภาคเหนือ 12 เส้นทาง อาทิ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เชียงราย และกรุงเทพฯ-แม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 7 เส้นทาง อาทิ กรุงเทพฯ-ศรีษะเกษ,กรุงเทพฯ-ขอนแก่น และ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานีภาคใต้ 6 เส้นทาง อาทิ กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ-ระนอง และ วิ่งระหว่างจังหวัด 5 เส้นทาง เช่น เชียงใหม่-หัวหิน, เชียงใหม่-ขอนแก่น, เชียงราย-ขอนแก่น, เชียงราย-นครพนม และ ภูเก็ต-ขอนแก่น ส่วนผู้โดยสารที่ใช้บริการเฉลี่ย 7,000-8,000 คนต่อวัน


นายพิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า สมบัติทัวร์ได้ปรับแผนรับมือกับการแข่งขันด้วยการปรับเที่ยววิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ประชาชนไม่นิยมเดินทาง อย่างหน้าฝน บางเส้นทางเที่ยววิ่งในอดีตปล่อยรถวิ่ง 20 เที่ยวต่อวัน ปัจจุบันปรับลดเหลือ 12-15 เที่ยว เพราะรถ 1 คันมี 30-44 ที่นั่ง บางเที่ยวมีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งคัน  ขณะที่วิ่งแต่ละเที่ยวมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุง ขณะเดียวกันแม้บางเส้นทางจะมีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งคันแต่จำเป็นต้องวิ่งเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารเดือดร้อน อย่างไรก็ตามนอกจากคู่แข่งอย่างสายการบินต้นทุนต่ำแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากรถยนต์คันแรกนโยบายของภาครัฐในอดีต และรถตู้ในบางจังหวัดที่วิ่งระยะใกล้ เช่น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ประชาชนได้ขับรถกลับบ้านเอง และใช้บริการรถตู้แทน
นายพิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า บริษัทได้พัฒนาปรับปรุงบริการใหม่ตลอดเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในรถ เช่น จอติดหลังเบาะที่นั่ง ที่ชาร์จแบตเตอรี่ เบาะที่นั่งกว้างขึ้น เช่นเดียวกับบริการของเวียงพิงค์บัส ที่ปรับลดให้มี 20 ที่นั่ง จากเดิมรถทัวร์มี 40-50 ที่นั่ง เพื่อให้ผู้โดยสารที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ทั้งนี้การปรับจำนวนที่นั่งนี้รายได้ไม่ได้มาก เพราะราคาค่าโดยสารเท่ากันกับรถทัวร์วีไอพี แต่ต้องทำเพื่อคืนกำไร นอกจากนี้ยังมีบริการรับส่งพัสดุภัณฑ์ และมีบริการรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) จำนวน 12 คัน เพื่อให้บริการเช่าเหมานำเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น สปป.ลาว รวมทั้งแผนจัดซื้อรถทัวร์ใหม่เ บื้องต้นประมาณ 10 กว่าคัน วงเงิน 100 กว่าล้านบาท นำเข้าจากประเทศในยุโรปทั้งคัน โดยจะนำมาทดแทนรถทัวร์ที่ปลดระวาง และจะจัดเตรียมไว้สำหรับเพิ่มในบางเส้นทาง

“แม้จะมีธุรกิจเสริมต่างๆ เพิ่มรายได้  แต่ไม่ได้ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม แค่บริหารกิจการไม่ให้ขาดทุนดีกว่า เพราะกิจการนี้ขึ้นอยู่กับการเดินทางของผู้โดยสาร ถ้าสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่เหมือนกับปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลกระทบและไม่ได้กำไร แต่ต้องดำเนินกิจการต่อไปให้ได้” นายพิสิษฐ์ กล่าว