"ไฮบริดบัส"ไทยทำเวิร์กรับกระแสสมาร์ทซิตี้
เศรษฐกิจ
นายอำนวย พงษ์วิจารณ์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮีโน่มอเตอร์เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่เปิดตัวรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำ ระบบดีเซลและไฟฟ้า (ไฮบริด) หรือไฮบริดบัสคันแรก ที่ผลิตและประกอบขึ้นในประเทศไทย โดยผลิตขึ้นจากความร่วมมือของ บริษัท ฮีโน่ และ บริษัท เชิดชัยคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตอนนี้ได้กระแสตอบรับดีมากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจสอบถามเกี่ยวกับไฮบริดบัสดังกล่าวและต้องการนำรถไปโชว์ ล่าสุดเทศบาลนครนครราชสีมาให้ความสนใจ ซึ่งขณะนี้ภายในจังหวัดมีรถโดยสารประจำทางให้บริการรับส่งประชาชน และรับส่งนักเรียน ซึ่งรถโดยสารมีสภาพที่เก่า ไม่สะดวก และอนาคตจังหวัดพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทชิตี้) ต้องการที่จะมีนำรถโดยสารสมาร์ทบัสมาให้บริการเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการและอำนวยความสะดวกของผู้โดยสารในพื้นที่ในเมืองมากขึ้น รวมทั้งทางรถร่วมเอกชนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และผู้ประกอบการรถโดยสารที่ให้บริการภายในสนามบิน
นายอำนวย กล่าวต่อว่า สำหรับไฮบริดบัสเป็นรถคันแรกที่บริษัทฮีโน่ฯ ได้รับอนุญาตจากบริษัทฮีโน่ในประเทศญี่ปุ่นให้สามารถผลิตและประกอบขึ้นได้ในประเทศไทย เพื่อนำมาจัดจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ ทั้ง ขสมก., รถร่วม ขสมก. รวมทั้งจังหวัดในเมืองขนาดใหญ่ที่มีสภาพรถติดและที่ได้นำรถโดยสารไปให้บริการแล้ว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และอุดรธานี เพราะไฮบริดบัสมีน้ำมันเชื้อเพลิง 2 ระบบ คือ ระบบดีเซลและไฟฟ้า หากเจอสภาพการจราจรที่ติดขัดสามารถเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ผลการทดสอบช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป 40-50% และช่วยลดมลพิษด้วย
นายอำนวย กล่าวอีกว่า ไฮบริดบัสเป็นรถชานต่ำ ขนาด 12 เมตร บรรทุกผู้โดยสารแล้วแต่ความต้องการของผู้โดยสาร เช่น ขสมก. ต้องการ 35 ที่นั่ง รวมนั่งและยืน 60-80 ที่นั่ง ส่วนอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษา โดยเฉพาะแบตเตอรี่ไฮบริดรับประกันการใช้งาน 8 ปี สำหรับต้นทุนไฮบริดบัสที่ผลิตในไทยประมาณคันละ 8-10 ล้านบาท ขั้นอยู่กับสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบจีพีเอส เครื่องเสียง และทีวี ขณะเดียวกันหากนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่าคันละ 15 ล้านบาท