โพลชี้ใช้จ่ายเปิดเทอมเงินสะพัด 54,000 ล้านบาท
เศรษฐกิจ
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจประเมินผลกระทบผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมจาก 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.ว่า มีการใช้จ่ายทั่วประเทศ 54,972.11 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 52,254.88 ล้านบาท โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่สัดส่วน 38.1% เห็นว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม และสัดส่วน 14.6% เห็นว่าเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งโครงสร้างค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมส่วนใหญ่ 45.4% มาจากค่าเล่าเรียนค่าหน่วยกิต และสัดส่วน 28.6% มาจากค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่หรือค่าแป๊ะเจี๊ยะ
สำหรับทัศนะต่อราคาสินค้าส่วนใหญ่ราคาหนังสือ กระเป๋านักเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า ถุงเท้าไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนแหล่งที่มาของเงินในการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมที่เพียงพอ 43.8% มาจากเงินเดือนของผู้ปกครอง และ 34.4% มาจากเงินออม ส่วนผู้ปกครองที่มีเงินไม่เพียงพอ 28% ระบุว่า ต้องกู้เงินในระบบ สัดส่วน 24.6% ต้องจำนำทรัพย์สิน สัดส่วน 17.9 % ต้องยืมญาติพี่น้อง และ 17.8% กู้เงินนอกระบบ
ทั้งนี้ด้านความเห็นต่อปัญหาการศึกษา 73.6% พบว่า ต้องมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแข่งขัน สัดส่วน 73.3% ไม่มีโอกาสให้ลูกหลานได้เรียนในสถาบันที่ดี นอกจากนี้สัดส่วน 72.1% เห็นว่า จรรยาบรรณในวิชาชีพของครูน้อยลง ขณะที่ 71.6% ระบุว่า ข้อสอบวัดมาตรฐานไม่อิงกับหลักสูตรการเรียนการสอน 71.4% เห็นว่า หลักสูตรในระดับปฐมวัยเร่งรัดด้านการเรียนมากไป และ 70.6% จำนวนครูไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ส่วนเรื่องการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของบุตรหลาน เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต เกมส์ออนไลน์ เครื่องเล่นเกมส์ที่บ้าน เกมส์ตู้ และเกมส์พกพาขนาดเล็ก ผู้ปกครองมากกว่า 83.2% ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เล่นแล้วไม่ทำให้เสียการเรียน โดยเฉพาะการเล่นสมาร์ทโฟน ส่วนวัตถุประสงค์ก่อหนี้ครัวเรือนอันดับแรกซื้อบ้าน รองลงมาซื้อรถยนต์ และค่าใช้จ่ายบุตรหลาน