ขสมก.ตั้งเป้าพลิกกำไรใน5ปี
เศรษฐกิจ
นายประยูร กล่าวต่อว่า เรื่องราคากลางนั้น ขณะนี้ยังไม่นิ่งว่าจะเป็นตัวเลขเท่าไหร่ โดยสืบราคารถจากหลายแห่งเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดแบบที่ผ่านมา เบื้องต้นกำหนดสัดส่วนการประกอบรถในไทย และต้องมีชิ้นส่วนผลิตในไทยไม่น้อยกว่า 50% จากนั้นจะผลักดันโครงการจัดซื้อเป็นรถเมล์ไฮบริด 1,453 คัน วงเงิน 11,624 ล้านบาท ตั้งเป้าเปิดประมูลปี 63 ส่งมอบรถปี 64-65 โดยทีโออาร์จะแล้วเสร็จปี 62 เช่นเดียวกับโครงการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า (อีวี) พร้อมก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 35 คัน วงเงิน 571 ล้านบาท รถเมล์ไฟฟ้านั้นจะเน้นวิ่งพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีผู้โดยสารและมลพิษมาก ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะติดตั้งที่อู่สวนสยาม อย่างไรก็ตามทีโออาร์ต้องเสร็จปีนี้เช่นกัน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าภายใน 3 ปี (ปี 63-65) รวม 2,188 คัน
นายประยูร กล่าวอีกว่า สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการองค์กรเพื่อล้างหนี้ 1 แสนล้านบาทนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนส่งต่อให้กระทรวงคมนาคมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป อย่างไรก็ตามหลังจากปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว เชื่อว่าภายใน 5 ปี หรือปี 67 ขสมก. จะมีผลประกอบการกลับมาเป็นบวกหรือทำกำไรได้อีกครั้ง ขณะที่เรื่องแผนบริหารจัดการหนี้นั้นอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลเพื่อหาแนวทางชำระหนี้ ทั้งนี้แนวทางเดิมที่เคยเสนอภาครัฐคือ 1.ให้รัฐรับภาระหนี้ไป 80% และต้องการให้รัฐให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ (PSO) เพราะ ขสมก. อยู่ระหว่างฟื้นฟูองค์กร 2.รัฐรับภาระหนี้ทั้งหมด 100%
นายประยูร กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนปฏิรูปรถเมล์ 269 เส้นทาง ล่าสุดประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาได้รับการยืนยันเรื่องเส้นทางเดินรถใหม่ 137 เส้นทางจะตกเป็นของ ขสมก.ตามที่ขอไป แบ่งประเภทเป็น 1.เส้นทางที่ขสมก.วิ่งอยู่แล้วรายเดียว 2.เส้นทางที่ ขสมก.เดินรถกับรถร่วมบริการ อันนี้ต้องเจรจากัน 3.เส้นทางใหม่ที่ยังไม่มีใครเดินรถ