นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เปิดเผยว่า ได้ประชุมเพื่อรับทราบผลการศึกษาและมาตราการดูแลกี่ยวกับราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ของคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล
ซึ่งประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. ราคาโปร่งใส-เป็นธรรม (Fair Price) : ให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ-ขายให้แก่กรมการค้าภายใน เพื่อเผยแพร่ราคาจำหน่ายของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งผ่านเว็บไซต์ และกรณีที่โรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคาไม่น้อยกว่า 15 วัน 2. ผู้บริโภคต้องมีทางเลือก (Consumers’ Choices) : ให้โรงพยาบาลเอกชนจัดแสดง QR Code ไว้อย่างเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก และกรณีผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลจะต้องจัดทำใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายา
3.การรักษาที่สมเหตุสมผล (Reasonable Treatment) : ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยเห็นว่ามีการจ่ายยาหรือเวชภัณฑ์ หรือให้การรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ประสานและแจ้งความเห็นไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ให้มีการสร้างเครือข่ายและรณรงค์การตรวจสอบค่ายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์เพื่อรักษาสิทธิของผู้ป่วยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกช่องทาง และให้มีการบูรณาการร่วมกันจากหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน จัดทำฐานข้อมูลเวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ให้มีบัญชีและรหัสมาตรฐานเช่นเดียวกับสินค้ายา กกร. ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ อย่างรอบคอบโดยละเอียดแล้ว เห็นว่า ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ มุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใส และเกิดการแข่งขัน ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาล
ในการประกอบธุรกิจที่เป็นสากลอยู่แล้ว และการกำหนดให้แจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ก็เป็นเรื่องที่โรงพยาบาลต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์หรือการบริการอื่นของสถานพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงตามมาตรา 32 (3) พ.ศ. 2561 (อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) อย่างไรก็ตาม กกร. จะได้ให้มีการติดตามและทบทวนมาตรการให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นระยะ
สำหรับกรณีที่สมาคมโรงพยาลเอกชน จำนวน 42 ราย ได้ฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ก็ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย และการกำหนดมาตรการดูแลราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ในวันนี้ กกร. ก็ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนด ซึ่งมาตรการที่เห็นชอบไปแล้วยังไม่มีการเข้าไปควบคุมกำหนดราคาแต่อย่างใด แต่เป็นการทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเท่านั้น