ข่าวยกเครื่องคมนาคมชายแดนดันไทยฮับขนส่งลุ่มน้ำโขง - kachon.com

ยกเครื่องคมนาคมชายแดนดันไทยฮับขนส่งลุ่มน้ำโขง
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาศักยภาพและโอกาสการขนส่งไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งเห็นถึงโอกาสและความท้าทายในการประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาค GMS ว่า ประเทศไทยพร้อมที่ฮับการขนส่งสินค้า ของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวม 6 ประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลดความแออัดบริเวณด่านชายแดน ซึ่งได้มีการลงทุนไปมากกว่า 1 แสนล้านบาท ตามแนวเส้นทางการค้าชายแดนที่สำคัญในการขนส่ง GMS และอยู่ในแผนเส้นทางใหม่ในระเบียงเศรษฐกิจ GMS ประกอบด้วย1.ด่านชายแดนเชียงของ มีการลงทุนรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างเวนคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้าง ควบคู่ไปกับการลงทุนก่อสร้างศูนย์เชียงของ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งจะเปิดบริการได้ในปี 63 รองรับการขนส่งทางบกและทางราง


นายอาคม กล่าวต่อว่า 2.ด่านชายแดนนครพนม มีการลงทุนรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาทอยู่ระหว่างเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เร็วๆ นี้ควบคู่กับการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้า จ.นครพนม วงเงิน 846 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว รองรับการขนส่งสินค้าจากชายแดนไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังด้วยระบบราง 3.ด่านชายแดนแม่สอด เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งยุทธศาสตร์ (Asean East-West Economic Corridor : EWEC)นั้นล่าสุดได้เปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 วงเงินลงทุน 1.1 พันล้านบาทเชื่อมการขนส่งระหว่างแม่สอด-ย่างกุ้ง-มหาสมุทรอินเดีย และแก้ไขปัญหาความแออัดหน้าด่าน 4.ด่านชายแดนปอยเปต มีการลงทุนก่อสร้างสะพานข้ามคลองพรหมโหด จ.อรัญประเทศ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้า ไทย-กัมพูชา คาดว่าจะเปิดใช้ด่านการค้าแห่งใหม่ในปี 64 และ 5.ด่านชายแดนหนองคาย มีการลงทุนก่อสร้างสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ วงเงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมสถานีขนส่งสินค้าและสถานีผู้โดยสารแยกกัน รองรับทั้งระบบรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน

ด้านนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านขนส่ง ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) ในกลุ่ม GMS ขณะนี้ได้เริ่มใช้การแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างกันแล้วประเทศละ 500 ราย ได้แก่ ไทย สปป.ลาว เวียดนามและจีน ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถขนส่งสินค้าระหว่างกันได้แล้ว ขณะที่กัมพูชาได้เริ่มกับประเทศไทยก่อนพร้อมลงนามความตกลงร่วมกันระหว่างปี‭ 62-64‬ โดยกำหนดใบอนุญาตไว้ประเทศละ 500 ราย ขณะที่เมียนมาขอทำความร่วมมือแบบทวิภาคีกับไทยก่อนกำหนดสัดส่วนใบอนุญาต 100 ราย ตอนนี้เริ่มมีผลแล้ว ดังนั้นไทยจะพร้อมเป็นฮับขนส่งของ GMS ขณะที่แผนพัฒนาศูนย์ขนส่งและเปลี่ยนถ่ายสินค้าในปีนี้นั้น ขบ.จะผลักดันแผนลงทุนศูนย์ขนส่งและเปลี่ยนถ่าย 2 แห่ง ได้แก่ ชายแดนมุกดาหาร และชายแดนหนองคาย  วงเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานบูรณาการด้านขนส่งสินค้าแบบ One Transport คือ ทุกศูนย์ขนส่งสินค้าทางบกและทางรถไฟ จะต้องมีถนนทางหลวงและถนนทางหลวงชนบทรองรับทุกแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ ดังนั้นจึงสั่งให้ศึกษาและเร่งลงทุนถนนทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวให้เข้าถึงทั้งสถานีสินค้าและสถานีขนส่งผู้โดยสาร ขณะนี้อยู่ภายใต้การศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)


นายกมล กล่าวต่อว่า จากการศึกษาและสำรวจเส้นทางการขนส่งใหม่ตามระเบียงเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือ GMS พบว่ามี 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.แม่สอด-มัณฑะเลย์-มูเซ-หมางซื่อ-รุ่ยลี่-คุนหมิง 2.นครพนม-ฮานอย-ผิงสียง-หนานหนิง 3.เชียงของ-หลวงน้ำทา-ม่อหาน-คุนหมิง และ 4.อรัญประเทศ-พนมเปญ-โฮจิมินห์-วุงเต่า ส่วนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) ช่วง เชียงของ-หลวงน้ำทา-ม่อหาน-คุนหมิง (ไทย-ลาว-จีน)ผ่านด่านศุลกากรเชียงของซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าได้เปรียบดุลการค้าปีละเกือบ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การนำเข้า 5,800 ล้านบาท และการส่งออก 10,600 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและบริโภค มีปัจจัยสนับสนุนจากความนิยมสินค้าไทยในประเทศจีนที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีระยะเวลาขนส่งที่สั้นจากไทยไปยังสองเมืองใหญ่อย่างยูนนานและเสฉวน

ด้านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจใต้ (SEC) กรุงเทพ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ-โฮจิมินห์-วุงเต่า (ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม) ระยะทางสั้นที่สุดในการเชื่อมต่อสองเมืองหลักของทั้งสามประเทศเพียง 903 กม. นับเป็นเส้นทางหลักที่จะเชื่อมโยงแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญของกลุ่ม GMS โดยเฉพาะอุปทานด้านวัตถุดิบและชิ้นส่วนการผลิต(Supply) ขณะที่เส้นทางระเบียงย่อยตะวันออก (Eastern Corridor : EC) นครพนม-ท่าแขก-ฮานอย-ผิงเสียง-หนานหนิง (ไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน) เป็นระเบียงย่อยของNSEC เชื่อมโยงเวียดนามกับมณฑลยูนนานและไทย นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการด้านผลไม้สดและสินค้าอุปโภคปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับดีมานต์เส้นทางไทย-กว่างสี(จีน) อีกทั้งยังเชื่อมต่อไปยังเมืองกวางโจวซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีศักยภาพด้านขนส่งวัตถุดิบอุตสาหกรรมไปยังเมืองไฮฟองในเวียดนามอีกด้วย และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ(Northern-Corridor)ช่วง แม่สอด-มัณฑะเลย์-มูเซ-หมางซื่อ-รุ่ยลี่-คุนหมิง  เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อการขนส่งมหาสมุทรกับภาคพื้นเชื่อมไทย-เมียนมา-จีน-อินเดีย