ข่าวเร่งลงทุนจุดพักรถบรรทุกทั่วประเทศรับเพื่อนบ้านอาเซียน - kachon.com

เร่งลงทุนจุดพักรถบรรทุกทั่วประเทศรับเพื่อนบ้านอาเซียน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับแผนส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางบก ล่าสุดตนได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งพัฒนาสถานีพักริมทาง เพื่อเป็นจุดจอดพักรถบรรทุกและรถขนส่งทั่วไปรองรับระบบโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) รวมถึงต้อนรับผู้ขับขี่ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจุดพักรถขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก สำหรับจุดพักรถขนาดใหญ่ในปีนี้มีแผนจะเปิดใช้ ได้แก่ บริเวณทางหลวงหมายเลข 24 ช่วง อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ และบริเวณทางหลวงหมายเลข 2 อ.เมือง จ.ขอนแก่น จะเปิดบริการในปี 62 หลังจากที่ได้เปิดใช้จุดพักรถ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา วงเงิน 150 ล้านบาทแล้วพบว่ามีเสียงตอบรับที่ดี

นายอาคม กล่าวต่อว่า ขณะที่จุดพักรถขนาดกลางนั้นได้สั่ง ทล. ไปศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาจุดพักรถตามแนวเส้นทางขนส่งสำคัญในพื้นที่ขอบทางและพื้นที่ว่าง ซึ่ง ทล. เป็นเจ้าของ โดยจะลงทุนเทคอนกรีตและปรับพื้นผิวถนนไว้รองรับรถขนาดใหญ่ตามไหล่ทาง จากเดิมที่พื้นผิวเป็นหินและดินรองรับได้ 10-20 คัน ในปีนี้จะพัฒนาในเส้นทาง จ.นครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนด้านจุดพักรถขนาดเล็กได้สั่ง ทล. ปรับปรุงพื้นที่บริเวณสถานีตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ หลังจากพบว่าผู้ขับขี่จำนวนมากใช้สถานีตำรวจดังกล่าวเป็นจุดพักผ่อน ดังนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำและห้องอาบน้ำไว้ดูแลประชาชน ซึ่งการพัฒนาจุดจอดทั้งหมดจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน


นายอาคม กล่าวอีกว่า ในการประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 63 ที่ประเทศกัมพูชานั้นประเทศไทยจะนำเสนอเงื่อนไขและกฎระเบียบต่างๆ ที่เห็นควรให้ยอมรับและดำเนินการร่วมกัน เริ่มจากการกำหนดอัตราบรรทุกสูงสุดเพื่อรักษาสภาพถนนอาเซียน โดยปัจจุบันไทยกำหนดน้ำหนักบรรทุกสูงสุดไว้ที่ 50.5 ตัน โดยตามกฎหมายเดิมนั้นได้กำหนดว่า รถบรรทุก 10 ล้อน้ำหนักต้องไม่เกิน 25 ตัน รถบรรทุก 4 ล้อต้องไม่เกิน 9.5 ตัน และรถบรรทุก 6 ล้อต้องไม่เกิน15 ตัน ส่วนรถพ่วงจะแบ่งประเภทในแต่ละรถที่มีเพลาและล้อแตกต่างกัน เช่น 6 เพลา 22 ล้อ น้ำหนักไม่เกิน 50.5 ตัน

นายอาคม กล่าวด้วยว่า ดังนั้นหากเข้ามาในพรมแดนไทยต้องยึดกฎหมายไทยเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เพิ่งออกกฎกระทรวงใหม่ เรื่องผู้จัดการความปลอดภัยด้านการขนส่งทางถนน (Safety Manager) โดยเป็นภาคบังคับให้เอกชนผู้เดินรถสาธารณะและขนส่ง ครอบคลุมทุกประเภทการขนส่ง ซึ่งมีการระบุถึงค่าชดเชยในกรณีที่สินค้าเสียหาย ถือเป็นเรื่องใหม่ของไทยและเป็นการปกป้องผู้บริโภค ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีผู้จัดการประจำเพื่อทำหน้าที่ตรวจเช็คความพร้อมของรถและคนขับก่อนออกเดินทางเสมออีกด้วย