ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวน-อุปทานตึงตัว
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้ (13 - 17 พ.ค. 62) เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68 - 73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังอุปทานน้ำมันดิบยังคงตึงตัวจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงของเวเนซุเอลา สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และปัญหาความไม่สงบในประเทศ
ขณะที่อิหร่านมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดิบในปริมาณที่ลดลงจากการที่สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการผ่อนปรนการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านสำหรับ 8 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังตลาดยังกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่อาจอ่อนตัวลงจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังคงยืดเยื้อ หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ระดับ 25% นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่สหรัฐฯ และรัสเซียมีแนวโน้มปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้คืออุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว เนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงการปรับลด 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 62 ประกอบกับ การส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ต่อเนื่องจากผลของมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการผ่อนปรนการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านสำหรับ 8 ประเทศ ส่งผลให้อุปทานในตลาดปรับตัวลดลงมากขึ้น
ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 พ.ค. 62 ปรับตัวลดลงกว่า 4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 470.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 596,000 บาร์เรล ส่วนปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 159,000 บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ หลังกำลังการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 61 ขึ้นมาแตะที่ระดับ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในขณะนี้ นอกจากนี้ รัสเซียส่งสัญญาณว่าจะกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง หลังรัสเซียได้ปรับลดกำลังการผลิตร่วมกับกลุ่มโอเปกกว่า 213,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 62 เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 61 ไปอยู่ที่ระดับ 11.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตลาดมีแนวโน้มถูกกดดันจากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ระดับ 25% ในวันที่ 10 พ.ค. 62 โดยเดิมจะคงอัตราภาษีไว้ในระดับ 10% จนกว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะลุล่วง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนยังคงยืนยันว่าการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ จะยังดำเนินต่อไป ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของยูโรโซนไตรมาส 1/2562 ยอดขายปลีกสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 พ.ค. 62) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 69.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงกดดันหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ประกาศปรับตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะแตะระดับ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในสิ้นปีนี้ และจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 13.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 63
นอกจากนี้ประกอบกับนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง หลังสหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมฝูงบินทิ้งระเบิดไปยังศูนย์บัญชากลางในตะวันออกกลาง เพื่อส่งสัญญาณเตือนอิหร่านว่า หากคิดโจมตีแหล่งผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และพันธมิตร จะมีการตอบโต้ทันควัน