เปิดใช้"สถานีกลางบางซื้อปี64"ขาดทุนแน่ปีละ300 ล้าน
เศรษฐกิจ
นายฐากูร กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ฯ อยากให้เป็นเหมือนโตเกียวสเตชั่นของญี่ปุ่น โดยจะเปิดประมูลเป็น 2 สัญญา แบ่งเป็น 1.กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ระยะที่ 1 จำนวน 13,000 ตารางเมตร(ตร.ม.) เป็นสัญญาตามระเบียบ รฟท. ซึ่ง รฟท. จะมีรายได้จากส่วนนี้ 100 ล้านบาทใน 5 ปี และ 2.กิจกรรมบริหารสถานี อาทิ การรักษาความปลอดภัย การทำความสะอาด ดูแลที่จอดรถ และการบริหารอาคาร เป็นสัญญาตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง วงเงินประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี ทั้ง 2 ฉบับมีอายุสัญญา 5 ปี เปิดประมูลในปี 62 ได้เอกชนผู้ชนะประมูลกลางปี 63 พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบต้นปี 64 อย่างไรก็ตามขณะนี้มีเอกชนหลายรายสนใจกิจกรรมเชิงพาณิชย์แล้ว อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม
นายฐากูร กล่าวอีกว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ประมาณ 17,000 ตร.ม. แต่ในระยะแรกให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการก่อน 13,000 ตร.ม. ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นใต้ดิน, ชั้น 1 และชั้น 2 ส่วนที่เหลืออีก 4,000 ตร.ม. จะเป็นพื้นที่ชั้น 3 พื้นที่ให้บริการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน หากสามารถเปิดดำเนินการได้ทันภายในสัญญา 5 ปีนี้ ก็จะให้รวมอยู่ในสัญญาเดิมด้วย อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร พบว่าปีแรกจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการผ่านเข้าออก สถานีกลางบางซื่อ 80,000 คนต่อ และใน3 ปีของการเปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารใช้บริการผ่านเข้า-ออกมากกว่า 140,000 คนต่อวัน
นายฐากูร กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน พื้นที่ 58,210 ตร.ม., เป็นที่จอดรถ 1,613 คัน มีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถ และทางเดินขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร, ชั้น1 พื้นที่ 122,810 ตร.ม. ประกอบด้วย ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร โถงพักคอยของผู้โดยสาร และโถงชานชาลาผู้โดยสาร มีจุดเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของ MRT ในปัจจุบัน และพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า, ชั้นลอยที่ 1 พื้นที่ 9,800ตร.ม. เป็นพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า, ชั้น 2 รวมชั้นลอย 2 พื้นที่ 50,860 ตร.ม. ประกอบด้วย พื้นที่ต้อนรับบุคคลสำคัญ(วีไอพี) ส่วนควบคุมระบบการเดินรถและพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่อาคาร ส่วนชานชาลารถไฟทางไกล และรถไฟชานเมือง และชั้น 3 พื้นที่ 43,800 ตร.ม. ประกอบด้วย ชานชาลารถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
นายฐากูร กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าสถานีกลางบางซื่อมีขนาดใหญ่มาก พื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 2.6 แสนตร.ม. ทำให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก ทั้งเครื่องปรับอากาศ ไฟฟ้า ลิฟท์ บันไดเลื่อน เป็นต้น เบื้องต้นมีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละประมาณ 5 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่รายได้ที่ รฟท.จะได้รับมาจากพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่โฆษณา ประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นในภาพรวมแต่ละปีจะขาดทุนประมาณ 300ล้านบาท ซึ่งแม้จะขาดทุนแต่การสร้างสถานีกลางบางซื่อจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของ รฟท. และประเทศไทย และเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของไทยที่จะเป็นชุมทางรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังหาวิธีลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าอยู่ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงพลังงาน ว่าจ้างที่ปรึกษา 15 ล้านบาทศึกษาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา( Solar Rooftop) เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าภายในสถานีต่อไป.