ข่าวจุดเสี่ยงถนนทช.นับหมื่นอาจตั้ง"กล้องวิ่ง"จับขับเร็ว - kachon.com

จุดเสี่ยงถนนทช.นับหมื่นอาจตั้ง"กล้องวิ่ง"จับขับเร็ว
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

ดร.ชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักงานตรวจสอบความปลอดภัยงานทาง กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า  ทช. มีเส้นทางในความรับผิดชอบ 47,000 กม. แต่ละปีได้รับการจัดสรรงบประมาณสร้างความปลอดภัยปีละหลักพันล้านบาท  ด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ  การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการงานสืบสวนอุบัติเหตุของทช. ซึ่งปี 62 อบรมไปแล้ว 4 รุ่นๆละ 35 คน ให้เจ้าหน้าที่แขวงการทาง มีความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอบสวนอุบัติเหตุ 2 ด้านคือลงสำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่เคยอุบัติเหตุซ้ำ และพืนที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต  ยึดมาตรฐานถนนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดมาตรฐานด้านไอแรพ(iRAP )เกณฑ์ความปลอดภัยของถนนตั้งแต่1-5 ดาว มิติของผู้ขับขี่รถยนต์ผู้ขับขี่จักรยานยนต์(จยย.)  ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้าต้องได้รับความปลอดภัย  ในระดับ 3 ดาวขึ้นไป

ดร.ชาครีย์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลถนนทช.ที่มีความเสี่ยงซ้ำ และเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้แก้ไขไปแล้ว 919 จุด จากประมาณการณ์นับหมื่นจุด  เช่นติดตั้งป้ายระวัง ป้ายจำกัดความเร็ว หรือปรับกายภาพของถนนคดโค้งเพราะการตัดถนนได้จากที่ดินบริจาค รวมทั้งป้องกันอุบัติเหตุเน้น 3 E Education คือให้ความรู้เรื่องการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุ Engineerใช้หลักวิศวกรรมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และ Enforcement การบังคับใช้กฏหมาย แต่ต้องอาศัยอำนาจตำรวจภูธร เพราะทช.ไม่มีเจ้าหน้าที่ตร.จับกุมผู้ฝ่าฝืนเหมือนกรมทางหลวง (ทล.) ที่มีตำรวจทางหลวง  ซึ่งพบว่าถนนทช.มีการใช้ความเร็วเกิน และเมาแล้วขับ 

ดังนั้นจะนำเทคโนโลยี่มาช่วยควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่เพิ่ม  เช่น  ศึกษาการติดตั้งกล้องจับความเร็ว แต่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าเพราะกล้องราคาแพง ถนนทช.มีรถผ่านไม่มากเท่าทางหลวงอาจใช้กล้องเคลื่อนย้ายได้ไม่ประจำจุดแต่มีกล่องประจำไม่ให้ผู้ขับขี่เดาได้ว่ามีกล้องประจำหรือไม่ ทั้งนี้ผลการแก้ไขอุบัติเหตุของทช.ลดลง 75 % และอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง 85 % จากตัวเลขการเสียชีวิตปีละ 22,000 ต่อปี อยู่บนถนนทช.ราว 40 %  สามารถใช้เป็นต้นแบบทำงานด้านความปลอดภัยขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีสถิติและสาเหตุไม่ต่างจากถนนของทช.