เปิดเทอมรายจ่ายผู้ปกครองพุ่ง เงินสะพัด 34,970 ล้าน
เศรษฐกิจ
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอมจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่างพบว่า ประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ 67.3% มีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตร/หลาน 1 คน และอยู่ในระดับการศึกษาในชั้นประถมศึกษามากที่สุด โดยภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอม คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 34,970 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน อยู่ที่ 7,030 บาท ปรับลดลง จากปีที่แล้ว เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างบางส่วนเลือกที่จะใช้ สิ่งของเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ชุดนักเรียน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนหนังสือเรียนจากโรงเรียน
นอกจากนี้หากสอบถามถึงการเตรียมตัวหรือการจัดการค่าใช้จ่ายของบุตร/หลาน ช่วงเปิดเทอมของประชาชนฐานราก พบว่า ได้เตรียมตัวโดยการปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต 69.4% เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่ราคาถูกที่สุด 43.5% และหารายได้เสริม 38.5% ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากรายได้ 54.7% เงินจากคนในครอบครัว 24.4 % เงินออม 10.2% เงินสวัสดิการจากภาครัฐ 5.8 % และเงินกู้ยืม/จำนำ 4.9% ซึ่งมีทั้งเงินกู้นอกระบบและในระบบ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ต้องนำเงินที่ได้จากการเก็บออมมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก ปีก่อน นอกจากนี้การใช้เงินจากเงินกู้ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยเป็นการกู้เงินจากนอกระบบมากกว่าในระบบ
ด้านกิจกรรมการใช้จ่าย 3 อันดับแรกที่กลุ่มตัวอย่างประชาชนฐานราก มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ คือ ชุดนักเรียน/เครื่องแต่งกาย 75.1% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,575 บาท รองลงมาคือ ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา 56.1% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,470 บาท และค่าอุปกรณ์การเรียน 51.3% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 895 บาท ขณะเดียวกันประชาชนฐานรากมีความกังวลเรื่องค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา 61.5% ค่าชุดนักเรียน/เครื่องแต่งกาย 47% และค่าหนังสือเรียน/ตำราเรียน 23.3%
สำหรับสิ่งที่ประชาชนฐานรากต้องการความช่วยเหลือ/สนับสนุน ในอนาคต พบว่า 3 อันดับแรก คือ ทุนการศึกษา 38.5% รองลงมาคือ ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา 21.4% และอาชีพที่รองรับเมื่อจบการศึกษา 19.1% ซึ่งเป็นความต้องการที่คล้ายกับปีที่ผ่านมา เมื่อสอบถามถึงปัจจัยสำคัญในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตร/หลาน พบว่า 1. มีนโยบายเรียนฟรี 2.เดินทางสะดวก/ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานของผู้ปกครอง และ 3.มีค่าเทอม/ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก
ส่วนความคาดหวังทางการศึกษาของบุตร/หลาน พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด ต้องการให้บุตรหลานศึกษาต่อให้ถึงระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้ 54.8% รองลงมาคือ ศึกษาถึงระดับปริญญา 44.5% และศึกษาระดับอาชีวศึกษา (ปวช./ปวส.) 3.3%