ข่าวทช.เพลีย!!เก็บป้ายโฆษณา5หมื่นป้ายต่อปี - kachon.com

ทช.เพลีย!!เก็บป้ายโฆษณา5หมื่นป้ายต่อปี
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นาย เสฏฐพงษ์  ทองประภา  วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมทางหลวงชนบท (ทช.)เปิดเผยว่า   สถิติการเก็บป้ายโฆษณาในเขตทางทช.ว่า ปี 2561 เก็บได้จำนวน 47,867 ป้าย- ปี 2562 (ข้อมูลเดือน ม.ค. - เม.ย. 62) 11,963 ป้าย  หรือเฉลี่ยเดือนละ4,000 ป้ายซึ่งแต่ละปีไม่ต่างกัน   ตามมาตรา72 แห่งพ.ร.บ.ทางหลวงผู้กระทำผิดติดตั้งป้ายในเขตทาง จะมีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3ปี   ทช.จึงไม่อนุญาตให้ติดตั้งป้ายโฆษณาอยู่แล้วยกเว้นป้ายบอกทาง    อย่างไรก็ตามแม้สถิติการเก็บป้ายของเจ้าหน้าที่จะมีจำนวนมาก  แต่สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดโดยสำนักบำรุงทาง(สบร.)  ตั้งแต่ปี 2560 - 2562  ได้เพียง 6 รายเท่านั้น  ปี 60 จำนวน 4 ราย ปี 61 จำนวน 1 ราย ปี 62จำนวน 1 ราย   เนื่องจากต้องจับกุมการกระทำผิดซึ่งหน้า

นายเสฏฐพงษ์ กล่าวต่อว่า  แม้ป้ายโฆษณาที่ติดตามข้างทางทช.จะไม่พบว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ  แต่ก็ถือว่าผิดพ.ร.บ. ทางหลวง  และพบว่าพื้นที่เขตทางในกรุงเทพฯ  และปริมณฑล เก็บป้ายโฆษณาได้มากสุดย่าน ถนนราชพฤกษ์ถนนนครอินทร์ ถนนชัยพฤกษ์ ถนนราชพฤษ์ ถนนกัลปพฤกษ์  ที่ตั้งของหมู่บ้านจัดสรร เป็นป้ายชั่วคราวมาติดตั้งตามเสาไฟฟ้าและมักติดตั้งคืนวันศุกร์   โดยเจ้าหน้าที่ของทช.จะออกเก็บป้ายสัปดาห์ละ2 วัน โดยจะใช้วิธีสุ่มไม่ซ้ำวันในรอบสัปดาห์ ซึ่งบางครั้งดักซุ่มเพื่อจับกุมแต่ไม่สามารถจับได้   ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นป้ายโฆษณาปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น การจับเก็บป้ายกลายเป็นภาระหนักของทช.ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปทำงานด้านดูแลปรับปรุงทาง รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องสถานที่เก็บป้ายเหล่านี้ส่วนใหญ่จะนำไปเก็บไว้ ที่ หมวดบำรุงทางหลวงชนบทแต่ละพื้นที่ และเมื่อมีจำนวนมากก็ต้องทำลายทิ้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแม้ในป้ายจะระบุว่าเป็นโฆษณาของบริษัทไหนซึ่งสามารถไปเอาผิดกับเจ้าของได้แต่ปรากฏว่าตามกฏหมายจะเอาผิดได้กับคนที่ไปติดตั้งและต้องเจอแบบซึ่งหน้า และอย่างที่ทราบว่าคนติดตั้งไม่ได้เป็นเจ้าของธุริกิจที่ระบุในโฆษณานั้นๆอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเห็นตัวเลขจับกุมผู้กระทำผิดน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนป้ายที่เก็บได้ในแต่ละปีอย่างไรก็ตามประเด็นนี้เคยผลักดันเพื่อออกเป็นกฏหมายโดยผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว แต่ไม่ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยยังคงเอาผิดได้เฉพาะบุคคลที่ดำเนินการติดตั้งดังนั้นจึงเห็นการติดและปลดป้ายโฆษณาในเขตทางอยู่ประจำขณะที่ภาคธุรกิจมองว่าได้ผลหลังจากติดป้ายแม้จะต้องถูกปลดป้ายภายในไม่กี่วันแต่ก็คุ้มค่า