สัมปทาน30ปีจบข้อพิพาทบีอีเอ็ม
เศรษฐกิจ
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กทพ.ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติผลการเจรจาของคณะอนุกรรมการเจราจาฯ กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ซึ่งมีนายปกรณ์ อาภาพันธ์ กรรมการใน บอร์ดกทพ. เป็นประธาน กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 61 ให้ กทพ. ชดเชยรายได้ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ เอ็นอีซีแอล (NECL) ในเครือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม รวมดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 4 พันล้าน ซึ่งถือเป็นข้อสรุปที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะระงับปัญหาข้อพิพาททั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตได้
โดยมีสาระสำคัญคือ 1. การขยายอายุสัมปทานออกไปเป็นเวลา 30 ปี จากเดิม 37 ปี นับจากวันสิ้นสุดในแต่ละสัญญาของ3สัญญา ได้แก่ ทางด่วนขั้นที่ 2 (A,B,C )จากเดิมสิ้นสุดเดือนมี.ค.2563 เป็นสิ้นสุดเดือนมี.ค.2593 2.ทางด่วนขั้นที่2 ส่วนต่อขยายส่วนดี จากเดิมสิ้นสุดเดือนเม.ย. 2570 เป็นเดือนเม.ย.2600 และ3.ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จากเดิมสิ้นสุดในเดือนก.ย.2569 เป็นสิ้นสุดเดือนก.ย.2599 2. ปรับค่าผ่านทางเป็นแบบอัตราคงที่ 10 บาท ทุก 10 ปี 3.สัดส่วนรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ กทพ.60%และบีอีเอ็ม 40%
4. บีอีเอ็มจะต้องลงทุน 31,500 ล้านบาท ก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นทางด่วน 2 ชั้น (double deck) จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. รูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมสร้างทางขึ้น-ลงบริเวณจตุจักรเชื่อมกับสถานีกลางบางซื่อ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและปรับปรุงการบริการของทางด่วนขึ้นที่2 ที่เต็มขีดความสามารถแล้ว ด้วยการติดตั้งระบบ EMV (Europay, MasterCard และ Visa )เพื่อลดการสะสมปริมาณจราจรบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งdouble deck จะดำเนินการได้หรือไม่จะต้องได้รับการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่จะใช้เวลาดำเนินการ 2 ปีก่อน โดยเอกชนต้องรับความเสี่ยงไป หากไม่ได้รับการอนุมัติระยะเวลาสัมปทานจะลดลงเหลือ 15 ปี ซึ่งเขียนแนบท้ายไว้ในสัญญาแล้ว 5.บีอีเอ็มจะต้องลดค่าผ่านทางช่วงอาจรงค์-บางนา (S1)ลง 50% ในรูปแบบปีต่อปี อย่างไรก็ตามผลการเจราจรดังกล่าวถือว่าได้ข้อยุติ แต่ยังไม่สิ้นสุดเพราะอำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่คณะรัฐมนตรี(ครม..)ดังนั้นจากนี้ กทพ.จะเร่งนำผลการเจรจาเสนอกระทรวงคมนาคมโดยเร็วที่สุด เพราะล่าช้ามามากแล้วและดอกเบี้ยก็เดินทุกวันๆละ300.000บาท ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป
นายสุรงค์ กล่าวว่า สำหรับข้อห่วงใยเรื่องการบันทึกหนี้ ซึ่งที่ปรึกษาทางบัญชีการเงินและกฎหมายยืนยันแล้วว่าไม่ใช่เป็นหนี้และจะไม่มีการบันทึกลงในบัญชีของกทพ.ว่าเป็นหนี้ โดยตนจะทำหน้าที่ไปเคลียร์กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ภายในสัปดาห์นี้ให้ชัดเจนว่ากทพ.และบีอีเอ็มจะไม่มีหนี้ซึ่งกันและกันแล้ว ทั้งนี้การที่สามารถระงับข้อพิพาททั้งหมดได้จะทำให้กทพ.ดำเนินอีกหลายโครงการได้ตามแผนที่วางไว้โดยไม่มีภาระหนี้ และเชื่อว่าจากนี้ไปกทพ.จะมีสภาพองค์กรที่แข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะหมดสภาพภาระหนี้แล้ว ซึ่งจะมีอนาคตที่แจ่มใสมีความสามารถในการกู้เงินดำเนินโครงการต่างๆได้เองมากขึ้น หวังว่า ครม.จะพิจารณาให้กทพ.ผ่านมรสุมนี้ไปได้ ส่วนจะทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการนำเสนอของกระทรวงคมนาคม ซึ่งตนไม่ทราบ