เอฟทีเอดันมูลค่าส่งออกข้าวพุ่งกระฉูด
เศรษฐกิจ
“หลายประเทศได้ยกเว้นหรือลดภาษีในระดับต่ำยกเว้นจีนที่เพิ่งเริ่มลดภาษีสินค้าข้าวบางรายการให้ไทยเมื่อปี 61 และในรายการสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวขัดสี รวมถึงข้าวหอมมะลิ ซึ่งจีนยังคงอัตราภาษีที่ 50% ขณะที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย จัดให้ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวและยังคงเก็บภาษีนำเข้าข้าวในอัตราที่สูง โดยเกาหลีใต้ ยังคงเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่ 513% อินเดียเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่ 70-80% และญี่ปุ่นยังใช้ระบบโควตาภาษี โดยการนำเข้าข้าวภายใต้โควต้า 682,000 ตันต่อปี จะไม่เสียภาษี แต่การนำเข้าข้าวนอกโควต้า ต้องเสียภาษีในอัตรา 341 เยนต่อกิโลกรัม”
นางอรมน เสริมว่า จากสถิติปี 61 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย โดยไทยส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกในปริมาณกว่า 11 ล้านตัน เป็นมูลค่า 5,619.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.34% เมื่อเทียบกับปี 60 คิดเป็นสัดส่วน 2.02% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกหลัก เช่น อาเซียน สัดส่วน 20.12% เบนิน สัดส่วน 11.19% และจีน สัดส่วน 9.81% เป็นต้น ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ รวม 1,870.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 33.29% ของการส่งออกสินค้าข้าวของไทย
“เอฟทีเอถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่ง กรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น เอฟทีเอที่ไทยทำกับอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น”