เปิดแผน "มนตรา" พาบินไทยรอด!!
เศรษฐกิจ
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า การจะทำให้การบินไทยอยู่รอดได้คือ เพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ซึ่งวิธีนี้เด็กจบใหม่มาก็ตอบได้แบบนี้ และวิธีลดรายจ่ายก็ทำมาเป็น 10 ปีแล้ว จะให้ลดพรวดพราดไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนตัวมองว่าวิธีที่ถูกต้องที่สุดในโลกยุคใหม่นี้คือ ต้องเปลี่ยนกระบวนการ ค่าใช้จ่ายจึงจะลดลง ในปี 62 บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นสร้างรายได้เสริมภายใต้โครงการ “มนตรา” ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูการบินไทยแบบเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายให้การบินไทยหลุดพ้นจากวงจรของกับดักปัญหา และมีผลประกอบการที่มั่นคง ทั้งนี้การเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพียงแค่จากบัตรโดยสารอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มจากธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ครัวการบินไทย ซึ่งไตรมาส 1 รายได้เพิ่ม 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรเพิ่มขึ้น 70 ล้านบาท
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเน้นทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) โดยจะจัดทำเป็นคลังสินค้าบนโลกออนไลน์ จำหน่ายสินค้าทุกประเภท เช่น เครื่องโกนหนวด กระเป๋า เตารีด เตาบาร์บีคิว นาฬิกา เสื้อผ้า และสินค้า Thai Shop ผ่านเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นการบินไทย ซึ่งจะเริ่มเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับการบินไทยประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวการบินไทยจะทำหน้าที่เป็นช่องทางจัดจำหน่ายเท่านั้น (Market place) ส่วนการจัดหาสินค้า บริหารระบบ และโลจิสต์ติก จะเป็นหน้าที่ของผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ (Vendor) โดยการบินไทยจะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้จากผู้จัดจำหน่ายสินค้า ส่วนลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นบุคคลทั่วไป และผู้โดยสารของการบินไทยทั่วโลก ไม่ได้จำกัดแค่ในไทย ซึ่งโมเดลนี้คล้ายกับอเมซอน (Amazon) เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ใหญ่สุดในสหรัฐอเมริกา
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ชไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หรือแปลกใหม่ เพราะเวลานี้สายการบินอื่นๆ เริ่มทำกันแล้ว เป็นอีกช่องทางที่ช่วยสร้างรายได้ สำหรับแผนในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตั้งเป้ารักษาเคบินแฟกเตอร์ให้อยู่ที่ 80% ซึ่งไม่ง่าย เพราะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) โดยจะใช้วิธีจัดโปรโมชั่นบัตรโดยสารราคาถูกกระตุ้นการขาย
ด้านนายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ บริษัทฯ กล่าวว่า การบินไทยอยู่ระหว่างหารือกับผู้จัดจำหน่ายสินค้าอีคอมเมิร์ซที่มีความเชี่ยวชาญ 2 ราย ซึ่งแต่ละรายเป็นผู้บริหารธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้กับสายการบินขนาดใหญ่ เช่น ลุฟท์ฮันซา แควนตัส โดยจะคัดเลือกเหลือ 1 ราย เบื้องต้นทราบผลปลายเดือน พ.ค.นี้ โดยเฟส 1 จะจำหน่ายผ่านแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ จากนั้นเฟส 2 ปี 63 จะจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าจอสัมผัสบนเครื่องบินด้วย สำหรับการจัดโปรโมชั่นบัตรโดยสารที่จะมากระตุ้นการขายนั้น มี 4 แคมเปญ ได้แก่ 1.Youth Fare ค่าโดยสารราคาพิเศษสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน 2.Carnival of Travel ใช้เงินและไมล์สะสมแลกตั๋วเครื่องบิน 3.ตลาดท่องเที่ยวเมืองรอง และ4. Asean Connect ค่าโดยสารราคาพิเศษสำหรับเดินทางในประเทศอาเซียน.
...